บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK ร่วมกับ เทศบาลเมืองลำพูน และบริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมตรวจสมรรถภาพปอดให้แก่ประชาชนเพื่อคัดกรองผู้ป่วยทางเดินหายใจเชิงรุกในช่วงฝุ่น PM 2.5 ภายใต้โครงการต้นแบบ "ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋" เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพปอดและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เข้าใจวิธีการจัดการขยะในชุมชนอย่างถูกต้อง และส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อระบบนิเวศน์
นางโสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า โครงการต้นแบบ "ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋" (Lamphun Healing Town) มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่ย่านใจกลางเมืองเก่าลำพูนให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขทั้งกายและใจ ผ่านการพัฒนาในหลายมิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาวะ มิติสิ่งแวดล้อม และมิติเศรษฐกิจ โดย GSK ในฐานะผู้นำด้านชีวเภสัช (Biopharma) ต้องการมีส่วนร่วมในการปกป้องและฟื้นฟูสุขภาพของโลก ซึ่งบริษัทฯ ตระหนักดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และชีวิตของผู้คนมากขึ้น เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โครงการฯ นี้จะช่วยพัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษทางอากาศและปกป้องสุขภาพของชาวลำพูน
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย กล่าวในหัวข้อ "ชาวหละปูนฮักปอด รู้เร็ว หายง่าย" ว่า ปัญหาที่ภาคเหนือและประเทศไทยกำลังเผชิญ คือ PM 2.5 ซึ่งเป็นละอองที่มีขนาดเล็ก สามารถเข้าไปถึงทางเดินหายใจและกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบในหลอดลม คนไข้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคถุงลมพอง ก็จะมีอาการกำเริบ สำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรค ผลของฝุ่นก็จะทำให้มีการระคายเคือง การอักเสบ พออยู่ไปนาน ๆ ก็เกิดหลอดลมอักเสบ หลอดลมตีบ ทำให้เกิดโรคได้ นอกจากนี้ที่เจอมากก็คือมะเร็งปอด ฝุ่นจะเข้าไปลึกถึงถุงลมทำให้อักเสบ ทำให้เซลล์ทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงจนเกิดมะเร็ง ซึ่งคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ สำหรับการป้องกัน นอกจากจะต้องป้องกันฝุ่นควันเข้าสู่ปอดแล้ว ก็ต้องงดสูบบุหรี่ และควรมีการตรวจสุขภาพปอดแต่เนิ่น ๆ เพราะในบางครั้งกว่าเราจะรู้ตัวว่า เป็นโรคเกี่ยวกับปอดก็ต่อเมื่อมีอาการมากแล้ว"
นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ แอดมินเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป กล่าวในหัวข้อ "การจัดการขยะเพื่อชุมชนของเรา" ว่า "PM 2.5 คือขยะประเภทหนึ่งที่เราทิ้งขึ้นฟ้าซึ่งเกิดจาการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผาที่ทำให้เกิด PM 2,5การจัดการขยะที่ดีควรเลียนแบบโลกใบนี้ นั่นคือ มีการหมุนเวียนที่ดี สร้างขยะเท่าไรต้องนำกลับมาเท่านั้น อากาศปล่อยเสียเท่าไรต้องดูดกลับมาเท่านั้น ในการจัดการขยะที่ดีจึงต้องทำจากต้นทางก่อน คือลดการใช้ มีการใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล ซึ่งจะง่ายกว่าการมาทำที่ปลายทางมาก เราควรถือว่าการจัดการขยะเป็นความรับผิดชอบของทุกคน เพราะเราสร้างขึ้นมาเราก็ควรจะเป็นคนที่รับผิดชอบ การจัดการขยะมีค่าใช้จ่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ รวมไปถึงผู้ผลิตเองก็ต้องมีความรับผิดชอบ และควรจะมีกฎหมายที่กำหนดไว้ให้ชัดเจน สำหรับการจัดการขยะของลำพูน ถือว่าเป็นจังหวัดต้นแบบจังหวัดหนึ่ง มีหลายชุมชนในลำพูนที่ทำเรื่องขยะในชุมชนได้ดีมาก ลำพูนเป็นเมืองที่น่าอยู่ อยากฝากไว้กับเหล่าผู้นำชุมชนว่า ถ้าเราเริ่มต้นเรื่องจัดการขยะในชุมชนของเราได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากและทำให้ชุมชนน่าอยู่มากขึ้น"
อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกป่าเหนือสตูดิโอ กล่าวในหัวข้อ "ต้นไม้และระบบนิเวศน์เขตเมืองเก่า" ว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองจะช่วยเรื่องสภาพอากาศและทำให้คนที่อยู่อาศัยไม่เครียดจนเกินไป การแก้ปัญหาในเรื่องมลภาวะต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการจราจร การไม่เผาพื้นที่เกษตร สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตัวเมืองลำพูนจะมีความแตกต่างจากที่อื่น เพราะเรานำเอาพื้นดาดแข็ง คือ ถนน มาทำเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ ซึ่งต้องชื่นชมโครงการอย่างมาก และจะเป็นตัวอย่างในระดับโลกได้ จากการวิจัยพบว่าพื้นที่ร่มเงาที่เกิดขึ้นนี้ จะมีผลโดยตรงในการลด PM 2.5 และที่สำคัญคือ คุณค่าในการเป็นภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม หรือ Cultural Landscape ที่จะอยู่คู่กับเมือง
ในส่วนของผู้นำชุมชน ครูแดง อารี เลิศจรรยารักษ์ ประธานคณะกรรมการถนนรถแก้ว กล่าวว่า "พวกเราช่วยกันวางแผนและแก้ไขปัญหาร่วมกับโครงการ "ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋" (Lamphun Healing Town) การเข้ามาของโครงการเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ไม่เพียงเฉพาะกับคนในชุมชน เนื่องจากมีต้นไม้ร่มรื่น มีดอกไม้สวยงาม ทำให้มีอากาศที่ดี รถไม่ต้องแล่นเร็ว อันตรายก็น้อยลง ทำให้สวยงามขึ้น เป็นระเบียบขึ้น เชื่อมั่นในโครงการ ก็คอยติดตามความคืบหน้าของโครงการเพื่อมาบอกชุมชน เราต้องประสานภายในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนพร้อมให้ความร่วมมือมาตั้งแต่ต้น ต้องขอขอบคุณทุก ๆ ฝ่ายที่ร่วมมือกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น"
โครงการต้นแบบ "ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋" (Lamphun Healing Town) ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองลำพูน บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด และบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ย่านใจกลางเมืองเก่าลำพูนให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขทั้งกายและใจ บนถนนรถแก้ว จังหวัดลำพูน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit