นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกหน่อไม้ฝรั่งให้ได้ผลผลิตดีตลอดทั้งปี มีการผลิตและส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และไต้หวัน จัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ปลูกที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การผลิต พบว่า พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพหน่อสม่ำเสมอ รวมทั้งการระบาดรุนแรงของโรคลำต้นไหม้ ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนชนิดพืชปลูก หรือย้ายพื้นที่ปลูก ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ดีจากต่างประเทศ มีการนำเข้าน้อย และบางปีไม่มีการนำเข้า เกษตรกรจึงเก็บเมล็ดที่เกิดขึ้นในแปลงผลิตไปปลูกต่อ หรือจำหน่าย ทำให้ผลผลิตและคุณภาพหน่อของหน่อไม้ฝรั่งลดลงและไม่สม่ำเสมอ
นางสาวนันทนา โพธิ์สุข นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพหน่อได้ตามมาตรฐานการส่งออก ตรงตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นและตลาดที่สำคัญอื่น ๆ สำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนพันธุ์เดิม โดยรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ในแปลงเกษตรกร ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2555 รวบรวมเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดต้นคัดเลือกจากแปลงปลูกเพื่อการส่งออกในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี 5 แปลง จากทั้งหมด 25 สายพันธุ์ จำนวน 2,400 ต้นนำมาปลูกคัดเลือกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี ระหว่างปี 2556-2558 ตามแผนการคัดเลือกต้นต่อแถวจำนวน 2 ครั้ง คัดเลือกได้ 9 สายพันธุ์นำไปปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ร่วมกับพันธุ์การค้า พบว่าสายพันธุ์ KC417-3 เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์การค้า จึงเสนอขอรับรองพันธุ์และได้รับการรับรองเป็นหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ใหม่ ใช้ชื่อว่า"พันธุ์ กวก. กาญจนบุรี 1"
หน่อไม้ฝรั่งพันธุ์"กวก. กาญจนบุรี 1"มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตรวมเฉลี่ย 1,554 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์การค้า 2 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิตมาตรฐานเฉลี่ย 1,118 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์การค้า 17 เปอร์เซ็นต์และให้ผลผลิตมาตรฐานชั้นพิเศษ A ตูมเฉลี่ย 682 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์การค้า 2 เปอร์เซ็นต์ ปลายยอดหน่อตูมแน่นเป็นรูปสามเหลี่ยม คุณภาพหน่อได้ตามมาตรฐานการส่งออก สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี เมื่อปลูกในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก นอกจากลักษณะดีต่าง ๆ แล้วเกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูกาลต่อไปได้โดยไม่กลายพันธุ์หากมีการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างถูกต้องเหมาะสม ช่วยลดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี และปลูกทดแทนพันธุ์เดิม เพื่อรองรับการกระจายพันธุ์ ก่อให้เกิดระบบการผลิตที่มั่นคงและยั่งยืน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี ได้สร้างแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ 0.25 ไร่ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย 1-5 กิโลกรัม ในปี 2568 สำหรับให้เกษตรกร หรือผู้ที่สนใจนำไปปลูกในพื้นที่ได้ประมาณ 10-50 ไร่ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี โทรศัพท์ 034-552036-7
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit