นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เปิดเผยว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ย สงคราม รวมถึงความไม่แน่นอนด้านการเมืองและนโยบายจากการเลือกตั้งในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจในแต่ละสินทรัพย์จะไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยรวมแล้วการจัดพอร์ตต้องเน้นความสมดุลมากขึ้นระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ และหุ้น โดยมองโอกาสและปัจจัยที่ต้องคอยจับตาในแต่ละสินทรัพย์ดังนี้
ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากความหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด แต่ความหวังดังกล่าวอาจจะมากเกินไป ทำให้ตลาดอาจมีความผันผวนมากขึ้นในระยะสั้น ขณะที่ในปัจจุบันต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงยังค่อนข้างสูง จึงทำให้ผลตอบแทนในรูปเงินบาทอาจไม่ได้น่าจูงใจเหมือนดอกเบี้ยในรูปสกุลเงินต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลกเริ่มส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยอาจกลับมาเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ
ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทย ปรับตัวดีขึ้นเป็นไปตามทิศทางตราสารหนี้ทั่วโลกเช่นกัน รวมถึงแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก อาจทำให้ตราสารหนี้ไทยมีความน่าสนใจน้อยลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หุ้นกู้ภาคเอกชนยังทรงๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลกระทบเฉพาะตัวเท่านั้น เนื่องจากหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งที่ดียังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนอยู่ ทาง KTAM จึงได้แนะนำ กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (KTSTPLUS) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก หรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก และ/หรือ ตราสารทางการเงิน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ โดยเฉลี่ยอายุตราสารไม่เกิน 1 ปี
สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง (Soft Landing) และไม่น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มลดลง แม้ว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นบ้างในระยะสั้น ทำให้ดอกเบี้ยที่ถูกตรึงไว้สูงมาระยะหนึ่งแล้ว น่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่คาดว่าตลาดการเงินยังน่าจะมีความผันผวนอยู่ จึงเน้นการลงทุนที่เห็นผลตอบแทนเติบโตชัดเจน โดยมองว่าเวียดนามมี GDP Growth ที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับเวียดนามมีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปได้ค่อนข้างมากแล้ว และอาจจะเป็นหมุดหมายของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อีกด้วย จึงแนะนำ กองทุนเปิดเคแทมเวียดนาม อิควิตี้ (KT-VIETNAM) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6) มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุกเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด เน้นลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศเวียดนาม ผ่านการลงทุนในหุ้น หน่วย CIS กองทุน ETF ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเวียดนามและต่างประเทศ เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
และในส่วนตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในปี 2023 ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยกระแสการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงปัจจัยเฉพาะตัวจากเรื่องการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช้ากว่าที่คาด และงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดปรับตัวลดลงมากทำให้ Valuation เริ่มน่าสนใจ และมี Downside Risk ที่ต่ำ จึงมองว่าเป็นจังหวะทยอยสะสมเพื่อรับอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นในอนาคต จึงแนะนำ กองทุนเปิดกรุงไทย หุ้นไฮดิวิเดนด์ (KT-HiDiv) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานผลการดำเนินงานที่ดี มีประวัติการจ่ายเงินปันผลที่ดีสม่ำเสมอ และอีกกองทุนคือ กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap (KTMSEQ) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดกลางและหรือขนาดเล็กที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ส่วนในกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือก มองว่าการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ REITs มีความน่าสนใจมากขึ้น จากวัฏจักรดอกเบี้ยที่ผ่านพ้นจุดสูงไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง ถึงแม้ความผันผวนทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ประเภทนี้บ้าง อีกทั้ง สภาพคล่องของสินทรัพย์นี้ในประเทศก็อยู่ในระดับต่ำ ยิ่งทำให้ความผันผวนยังอาจจะสูงอยู่ แต่เงินปันผลจากการลงทุนในทรัพย์สินประเภทนี้ได้สูงขึ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ จึงแนะนำ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ (KT-Property) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 7) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Global Property Equities Fund (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในในกลุ่มอุตสาหกรรมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการได้ที่ บลจ.กรุงไทย โทร. 0-2686-6100 กด 9 หรือธนาคารกรุงไทยและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (ถ้ามี) หรือศึกษารายละเอียดได้ที่ www.ktam.co.th สนใจเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น KTAM Smart Trade ได้ที่ https://bit.ly/KTSTSignIn
ปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนที่สำคัญ : ความเสี่ยงทางตลาด ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงในเรื่องคู่สัญญาในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง ความเสี่ยงที่เกิดจากการย้ายการลงทุนไปกองทุนอื่น ความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์เฉพาะกลุ่มธุรกิจ ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน และความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ
คำเตือน กองทุนมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (ยกเว้นกองทุน KT-HiDiv และ KTMSEQ) ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงโดยดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ในกรณีที่กองทุนไม่ได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือจะได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ / ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน