กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ

13 Mar 2024

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ว่า สนพ.ได้ตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการ และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ด้วยการตรวจค้นพบโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตามแนวทาง การวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ

ขณะเดียวกันได้กำหนดแนวทางและมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาลและชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้กับผู้ที่มารับบริการใน รพ.และชุมชนรอบ รพ. สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักด้านสุขภาพ ตลอดจนวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมถึงการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2-7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง การป้องกันที่ประชาชนสามารถทำได้คือ การเก็บขยะ ทำความสะอาดบ้าน และดูแลภาชนะที่ใส่น้ำไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สามารถใส่ทราย หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่

นอกจากนั้น สนพ.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะภายใน รพ.โดยให้ทุก รพ.ในสังกัด สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ. รวมทั้งได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัดในเรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ รพ. แนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ (1) ปิดฝาภาชนะให้สนิท (2) ปล่อยปลากินลูกน้ำ (3) เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ (4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (5) ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย

ขณะเดียวกันได้สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง และการสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้ อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน"หมอ กทม." หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

HTML::image(