กทม.กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ "ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" 50 เขต

22 Mar 2024

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงแนวทางควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ว่า สนอ.ได้จัดทำมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ประกอบด้วย มาตรการขอความร่วมมือ มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มาตรการด้านสังคมและชุมชน มาตรการด้านกฎหมาย และมาตรการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ รณรงค์ภายใต้แนวคิด "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินการตามแผน ปฏิบัติการของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งนี้ สนอ.ได้ประสานสำนักงานเขต 50 เขต ให้กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ

กทม.กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ "ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" 50 เขต

รวมทั้งจัดทำประกาศสำนักงานเขต เรื่อง มาตรการสงกรานต์ กทม.ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2567 โดยขอความร่วมมือประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และร้านค้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณีไทย ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงให้ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการต่าง ๆ อาทิ ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การเร่ขาย การลด แลก แจก แถม เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย ห้ามจำหน่ายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ เวลา 11.00 - 14.00 น. และเวลา 17.00 - 24.00 น. และห้ามจำหน่าย/ห้ามบริโภคในสถานที่ที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักงานเขต เพื่อให้ผู้นำชุมชน/อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. และอาสาสมัคร กทม.เฝ้าระวังภัยและยาเสพติด เพื่อประชาสัมพันธ์การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนให้เป็นไปตามกฎหมาย สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ป้องกันการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาท และการสูญเสียอื่น ๆ รณรงค์การจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณีไทย ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน เช่น การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การจัดงานตามวิถีไทย เป็นต้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์วิธีการสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น และประสานสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ร่วมป้องปรามผู้ดื่มสุราในชุมชน เฝ้าระวังถนนสายรองตามชุมชนให้เกิดความปลอดภัย ส่งเสริม/สนับสนุนการจัดทำมาตรการชุมชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ เช่น ร่วมกันจัดทำกติกาชุมชนด้านความปลอดภัยทางถนน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบ "ด่านครอบครัว" เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและคนในครอบครัวไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ และสร้างความตระหนักในการป้องกันตนเองและผู้อื่นจากการดื่มแล้วขับ

ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมวางแผนป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค สำนักการแพทย์ (สนพ.) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร เพื่อจะได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมวางแผนการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน อีกทั้งได้ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) บูรณาการแผนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการลดอุบัติเหตุร่วมกัน

สำหรับการเตรียมความพร้อมบริการทางการแพทย์ของ กทม. เช่น หน่วยเคลื่อนที่เร็ว หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สนอ.ได้ประสาน สนพ.ให้ดำเนินการตามมาตรการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจัดทีมหน่วยแพทย์กู้ชีวิต พร้อมอุปกรณ์ประจำที่ตั้ง พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน/ผู้ประสบเหตุตลอด 24 ชั่วโมง และสำนักงานเขตตั้งจุดบริการประชาชนในเส้นทางถนนที่มุ่งหน้าออกต่างจังหวัด โดยบูรณาการร่วมกับการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต)