นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศทั่วไปในช่วงนี้ถึงวันที่ 6 เม.ย.67 ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัดว่า กทม.มีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงจัดทำมาตรการรับมือสภาพอากาศที่ร้อนจัด พร้อมกับสำรวจกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบแผนการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 เรียบร้อยแล้ว
โดยมีมาตรการดำเนินการ ประกอบด้วย มาตรการดำเนินการตลอดปี ซึ่งเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชนและการลดอุณหภูมิเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานสำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชน รวมทั้งจัดทำสื่อและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ชี้แจงการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสื่อสารความเข้าใจแก่ประชาชน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ส่วนมาตรการระยะวิกฤต เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน
โดยจะดำเนินการตามระดับดัชนีความร้อน (Heat Index) ประกอบด้วย ระดับเฝ้าระวัง (Heat index = 27.0-32.9 องศาเซลเซียส, สีเขียว) ติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ทุกวัน จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงทั้งประเภทและจำนวนให้เป็นปัจจุบัน เตรียมการรองรับสถานการณ์และสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการดูแลและป้องกันผลกระทบจากความร้อน เช่น จัดเตรียมสื่อคู่มือแนวทางองค์ความรู้วิชาการให้แก่ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และแจ้งสถานพัฒนา เด็กปฐมวัย และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุดูแลกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เป็นต้น
ระดับเตือนภัย (Heat index = 33.0-41.9 องศาเซลเซียส, สีเหลือง) ได้แก่ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามระดับความรุนแรง วันละ 1 ครั้ง เวลา ๐๗.๐๐ น. ผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ป้ายจราจรอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป้ายบนรถไฟฟ้า BTS และเสียงตามสาย เฝ้าระวังโรค อาการที่เกิดจากความร้อนและพฤติกรรมการป้องกันความร้อนของประชาชน สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ให้ความรู้การปฐมพยาบาลโรคลมร้อน (Heat stroke) เตรียมความพร้อมระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน และจัดเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย จัดเตรียมพื้นที่ หรือศูนย์คลายร้อน (Cool room) ในสถานบริการ สาธารณสุขสถานที่ราชการ หรือชุมชน เป็นต้น
ระดับอันตราย (Heat index = 42.0-51.9 องศาเซลเซียส, สีส้ม) มีมาตรการ (เพิ่มเติมจากระดับเตือนภัย) ได้แก่ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามระดับความรุนแรง วันละ 2 ครั้ง เวลา ๐๗.๐๐ น. และ 11.00 น. หากพบการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่สอบสวน วิเคราะห์สถานการณ์ติดตามความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงให้ความรู้คำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง (เด็กแรกเกิด ถึงอายุ 5 ขวบ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง) เป็นต้น
ระดับอันตรายมาก (Heat index = มากกว่าหรือเท่ากับ 52.0 องศาเซลเซียส, สีแดง) ได้แก่ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามระดับความรุนแรง วันละ 3 ครั้ง เวลา ๐๗.๐๐ น. 11.00 น. และ 15.00 น. จัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพประชาชนและเตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลยกเลิกนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นในช่วงที่อากาศร้อนจัด จัดศูนย์คลายร้อน (cool room) ให้พร้อมใช้และให้ประชาชนเข้าพักชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด และเตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) ที่มีความพร้อมออกเยี่ยมบ้านติดตามอาการของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้ความรู้และคำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองแก่ประชาชนและรายงานสถานการณ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit