นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตหนองจอกว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจพบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขรายแรกของปี 2567 ในพื้นที่แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า และวิธีป้องกัน พร้อมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ติดประกาศ ณ สถานที่ต่าง ๆ ไลน์ และเพจเฟซบุ๊กสำนักงานเขตฯ จัดเจ้าหน้าที่ร่วมสอบสวนโรค สำรวจสัตว์เลี้ยงในชุมชนรัศมี 5 กิโลเมตร ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงในชุมชนรัศมี 5 กิโลเมตร รวมถึงฉีดซีนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชนอย่างต่อเนื่องตามที่ได้รับการประสานจากหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2566 ในพื้นที่แขวงคู้ฝั่งเหนือและแขวงคลองสิบ
ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ประกอบด้วย (1) ออกตรวจตรา ขึ้นทะเบียน ดูแลกำกับกิจการที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ (ฟาร์มเลี้ยง) และร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ผ่านการดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (2) ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการฟาร์มและร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง คลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์เอกชนขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ต้นทาง (3) ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งดำเนินการตามนโยบายจัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีสุนัขและแมวจรลดน้อยลงหลังจากทำหมันอย่างจริงจัง มีศูนย์พักพิงที่รองรับสัตว์จรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการดำเนินงานล่าช้าจากการร้องเรียนเหตุในพื้นที่ และประชาชนสามารถรับเลี้ยงสัตว์ใหม่จากสัตว์จรในศูนย์พักพิงของ กทม.ผ่านการดำเนินงาน ๔ ส่วน ได้แก่ (1) จัดชุดออกปฏิบัติการทำหมันและฉีดวัคซีนเชิงรุกควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลทั้งสุนัขและแมวจรให้เป็นปัจจุบันและลงรายละเอียด ระดับพื้นที่ (2) เปลี่ยนสุนัขจรเป็นสุนัขชุมชน โดยขึ้นทะเบียนและติดสัญลักษณ์หลังจากทำหมัน ฉีดวัคซีนแล้วในสัตว์จรที่ไม่ดุร้าย มีประชาชน หรือชุมชนช่วยกันดูแลในละแวกพื้นที่ (3) ปรับปรุงศูนย์พักพิงของ กทม.ให้มีมาตรฐาน และ 4) ส่งสัตว์จรกลับสู่สถานะสัตว์เลี้ยง (Adopt Not Shop)
นอกจากนั้น ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่พบโรค เพื่อให้เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากสัตว์ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ที่ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขแมวกัดข่วนต้องฟอกล้างแผลใส่ยาฆ่าเชื้อแล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดวัคซีนให้ครบโปรแกรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายสำหรับเจ้าของที่เลี้ยงสุนัขและแมว โดยแนะนำเจ้าของสุนัข/แมว ฉีดวัคซีนฯ ทำหมัน การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบและดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ให้เรียบร้อยถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้ก่อปัญหากับชุมชน หากพบว่า เจ้าของสุนัข หรือแมวที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และสร้างปัญหาให้กับชุมชน เช่น ส่งเสียงรบกวน ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ก่อความสกปรก ทำลายของ การเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของเหตุรำคาญ คือ มีเหตุเกิดขึ้น เหตุที่เกิดนั้นอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น และเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด ๕ เหตุรำคาญ (หมวด 6 การควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสัตว์) และข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง การควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสัตว์สุนัข พ.ศ. 2548
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดทำทะเบียนข้อมูลสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่เขตหนองจอกครบทุกชุมชน และสำนักอนามัยได้สนับสนุนจัดสรรกรง 3 ประเภท ได้แก่ กรงดักแมว กรงกักขังและขนส่ง และกรงคอนโดพักคอย พร้อมขนมแมวเลีย เพื่อให้สำนักงานเขตฯ นำแมวจรจัดในพื้นที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงเดือน เม.ย.67 เมื่อผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนฯ แล้วให้สำนักงานเขตฯ รับแมวกลับ เพื่อดูแลพักฟื้นเป็นเวลา 3-5 วัน ก่อนปล่อยกลับคืนพื้นที่โดยไม่เพิ่มจำนวนในชุมชน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit