เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดี เข้าร่วมงาน "การปฏิรูปอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน" ณ ห้อง Eternity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิสรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับ"รางวัลดีเด่น" ด้านการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ เป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการวิจัยในครั้งนี้
รางวัลสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 จะมอบให้กับสถาบันการศึกษาที่มีผลงานดีเด่น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ ด้านที่ 2 การวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และด้านที่ 3 การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัย
จากสถิติจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ พบว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2018-2022 ดังนี้ ปี 2018 จำนวน 172 บทความ, ปี 2019 จำนวน 220 บทความ, ปี 2020 จำนวน 365 บทความ, ปี 2021 จำนวน 580 บทความ และปี 2022 จำนวน 738 บทความ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 142 บทความ/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 45
ด้านผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติระดับ Tier 1 หรือ Top 10% ของแต่ละสาขา ตั้งแต่ปี 2018-2022 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนี้ ปี 2018 จำนวน 23 บทความ, ปี 2019 จำนวน 32 บทความ, ปี 2020 จำนวน 60 บทความ,ปี 2021 จำนวน 92 บทความ และปี 2022 จำนวน 134 บทความ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 28 บทความ/ปี คิดเป็นร้อยละ 56 และในปี 2021 มีจำนวนการอ้างอิงบทความวิจัย (Citations) สูงสุดจำนวน 4,731 ครั้ง และได้รับทุนวิจัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ล่าสุด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับ Q1,Q2 อยู่ที่ 90.88% เป็นอันดับ 1 ของประเทศ อีกด้วย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค.'67) รวมทั้งนักวิจัยของ ม.วลัยลักษณ์ ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก "World's Top 2% Scientists" ประจำปี 2023 จัดอันดับโดย Stanford University โดยติดอันดับมีผลกระทบการอ้างอิงตลอดชีพสูงสุด จำนวน 2 คน และติดอันดับผลกระทบการอ้างอิงเฉพาะปี 2022 สูงสุด จำนวน 5 คน
ผลจากการพัฒนาคุณภาพด้านการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับโลก จาก Time Higher Education ปี 2023 อยู่ในอันดับ 1201+ อันดับ 6 ร่วมของไทย ขยับดีขึ้นจากปี 2022 ในอันดับ 1501+ อันดับที่ 11 ร่วมของไทย อีกทั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้รับการจัดอันดับกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ (Young University Rankings 2023) อยู่อันดับ 501+ ของโลก อันดับ 3 ร่วมของไทย และได้รับการจัดอันดับ THE Impact Ranking ปี 2023 อยู่ในอันดับที่ 401-600 ของโลก อันดับที่ 10 ร่วมของประเทศไทยอีกด้วย
โครงการคัดเลือกผลงานสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกย่องและตระหนักในคุณค่าของผลงาน การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ และพัฒนานวัตกรรมจากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ขั้นสูง อันจะนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นการกระตุ้นให้สถาบันอุดมศึกษา เห็นความสำคัญของการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit