องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก (World Animal Protection) เผยรายงานความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับกิจกรรมล่าโลมาที่เมืองไทจิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งสังหารหมู่โลมาหลายร้อยตัวต่อปี จากข้อมูลพบว่า นอกจากจะมีการนำเนื้อโลมาไปเป็นอาหารแล้ว โลมาบางส่วนยังถูกจับและส่งต่อไปยังสวนน้ำ หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วโลก และที่น่าสนใจคือ มีแพลตฟอร์มท่องเที่ยวเจ้าดังจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ Trip.com, Klook, Traveloka, GetYourGuide, TUI และ Groupon เปิดขายบัตรท่องเที่ยวไปยังสถานที่เหล่านั้น รายงานฉบับนี้ระบุสถานที่ท่องเที่ยวชมโลมา 107 แห่งใน 17 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับโลมาที่ถูกล่ามาจากเมืองไทจิ นอกจากนี้ยังพบว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลมาทั่วโลกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้เกิดการล่าโลมาไทจิจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
ซูซาน มิลทรอป์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก กล่าวว่า ความโหดร้ายทารุณ และภาพโลมานองเลือดที่ถูกรุมไล่ล่า คือความรับผิดชอบของบรรดาบริษัทท่องเที่ยว ที่ยังเปิดขายบัตรเข้าชมโลมาตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลมาเมืองไทจิ โดยราคาซื้อขายโลมาที่ได้รับการฝึกฝนเรียบร้อย และพร้อมส่งไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศ มีมูลค่าถึงตัวละ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ "ตราบใดที่แพลตฟอร์มท่องเที่ยวยังคงขายตั๋วเข้าชมสถานที่เที่ยวชมโลมา ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ทรมานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากมหาสมุทรที่เฉลียวฉลาดเหล่านี้"
ฮาน่า เทท ซีอีโอของ Action for Dolphins กล่าวว่า "แพลตฟอร์มท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องเร่งออกนโยบายส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และหยุดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทารุณกรรมสัตว์ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม" จากผลสำรวจขององค์กรพิทักษ์สัตว์โลก เมื่อปี พ.ศ. 2565 เผยว่า 79 เปอร์เซ็นต์ ของนักท่องเที่ยวอยากเห็นโลมาในมหาสมุทรมากกว่าในสภาพที่ถูกกักขัง โดย 82 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ควรขายทัวร์ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์ป่า ทุกวันนี้มี 22 ประเทศจากทั่วโลกที่แบนการนำเข้าโลมาที่ถูกจับมาจากถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติ ส่วนบริษัทท่องเที่ยวชั้นนำอย่าง Booking.com, Airbnb, Tripadvisor, Expedia ต่างมีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เข้มแข็ง และไม่ขายบัตรเข้าชมโลมาที่มีความเชื่อมโยงกับการล่าที่เมืองไทจิ
หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องหลังผลประโยชน์มหาศาลนี้ต้องแลกมาด้วยชีวิตของโลมาที่ต้องถูกพรากจากมหาสมุทร หลายตัวบาดเจ็บล้มตาย ถ้าโชคดี รอดชีวิตจากการขนส่ง ก็ได้ไปอยู่บ้านใหม่ที่ไม่ต่างอะไรจากการถูกกักขัง และถูกใช้งานจนกว่าจะหมดอายุขัย ดังนั้น ควรยกเลิกกิจกรรมท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องสวัสดิภาพสัตว์
องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก และ Action for Dolphins ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มท่องเที่ยวปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ให้เข้มงวด และยุติการส่งเสริมสถานบันเทิงโลมาทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพียงงดซื้อบัตรเข้าชมสถานที่แสดงโลมา นักท่องเที่ยวก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยปกป้องโลมาให้อยู่ในธรรมชาติต่อไป
เครดิตภาพประกอบ: Robert Gilhooly
อ่านรายงาน: https://www.worldanimalprotection.or.th/Taiji-Report/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit