ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,116 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 7 - 10 เมษายน 2567 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องเทศกาลสงกรานต์ เพราะรัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองจากการที่องค์การสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศรับรองประเพณีสงกรานต์ ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพื่อร่วมผลักดันเทศกาลสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลระดับโลกจะมีการจัดสงกรานต์ยาว 21 วัน ในวันที่ 1 - 21 เมษายน 2567 โดยระหว่างวันที่ 11 - 15 เมษายน 2567 จะมีการจัดขบวนพาเหรดสงกรานต์ยิ่งใหญ่ พร้อมนำเสนอความวิจิตรตระการตา สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวงภายใต้ชื่องานว่า "Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567" เพื่อผลักดันให้เทศกาลสงกรานต์ไทยขึ้น 1 ใน 10 เฟสติวัลระดับโลก ในเทศกาลสงกรานต์จะพบการกระทำที่ไม่เหมาะสมอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการป้องกันการกระทำที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อเทศกาลสงกรานต์ และในส่วนของการเดินทางที่ปลอดภัย เพราะหลายปีที่ผ่านมาช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตมากที่สุด เนื่องจากมีวันหยุดยาวทำให้ผู้คนใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก และเทศกาลสงกรานต์ก็เป็นหนึ่งในเทศกาลที่มักเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาเป็นลำดับต้น ๆ อยากให้ประชาชนชาวไทยระมัดระวังในการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีวันสำคัญอย่างวันผู้สูงอายุแห่งชาติที่ตรงกับวันที่ 13 เมษายน และวันครอบครัวที่ตรงกับวันที่ วันที่ 14 เมษายน โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องเทศกาลสงกรานต์ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ ร้อยละ 89.3 ทราบว่า วันที่ 13 เมษายนของทุกปีนอกจากจะเป็นวันสงกรานต์ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ร้อยละ 79.4 และทราบว่า วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็นวันครอบครัว ร้อยละ 51
คิดว่าจะออกไปร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ ร้อยละ 79.4 อยากอยู่ด้วยกับคนในครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร้อยละ 76.2 และจะออกไปร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ อันดับที่หนึ่งคือ การทำบุญตักบาตร ร้อยละ 56.8 อันดับที่สองคือ การเล่นน้ำ ร้อยละ 48.7 อันดับที่สามคือ การรดน้ำผู้ใหญ่ ร้อยละ 33.1 อันดับที่สี่คือ การสรงน้ำพระ ร้อยละ 28.3 และอันดับที่ห้าคือ การนำทรายเข้าวัด ร้อยละ 9.1
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักจะเกิดอุบัติเหตุบนท้อนถนน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต อันดับที่หนึ่งคือ ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ร้อยละ 81.3 อันดับที่สองคือ การขับรถโดยประมาท ร้อยละ 14.9 และอันดับที่สามคือ การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 3.8
โดยทราบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 71คิดว่าการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ อันดับที่หนึ่งคือ เมาไม่ขับ ร้อยละ 65.6 อันดับที่สองคือ ง่วงไม่ขับ ร้อยละ 62.6 อันดับที่สามคือ งดขับรถเร็ว ร้อยละ 32.6 อันดับที่สี่คือ การไม่ประมาทในการขับรถ ร้อยละ 29.1 อันดับที่ห้าคือ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ร้อยละ 24.4 และอันดับที่หกคือ เช็คสภาพรถก่อนการเดินทาง ร้อยละ 21.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าเทศกาลสงกรานต์ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทย ร้อยละ 79.6 และเคยพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในเทศกาลสงกรานต์ แบบใดมากที่สุด อันดับที่หนึ่งคือ การสาดน้ำใส่ผู้ที่ไม่อยากเล่นสาดน้ำ ร้อยละ 29.2 อันดับที่สองคือ การสร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ ร้อยละ 23.2 อันดับที่สามคือ การคุกคามทางเพศ ร้อยละ 21.8 อันดับที่สี่คือ การส่งเสียงดัง / เปิดเพลงเสียงดัง ร้อยละ 12.8 และอันดับที่ห้าคือ การปะแป้งใส่ผู้ไม่อยากให้ปะแป้ง ร้อยละ 12.7
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit