นายนพ ชูสอน ผู้อำนวยการเขตคันนายาว กทม.กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนการลักลอบจุดไฟเผาหญ้าและเผาขยะบริเวณด้านหลังหมู่บ้านนวธานีว่า จากการตรวจสอบกรณีดังกล่าวเป็นเหตุเพลิงไหม้หญ้าเมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 ในที่รกร้างว่างเปล่า บริเวณเลียบถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งมีหมู่บ้านใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ เช่น นวธานี เศรฐสิริ ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้บูรณาการการระงับเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางชัน สถานีตำรวจนครบาล (สน.) บึงกุ่ม อปพร.คันนายาว มูลนิธิร่มไทร เป็นต้น โดยนำรถบรรทุกน้ำเข้าดับเพลิงทันทีและประสานแจ้งเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางชันเข้าดับเพลิงดังกล่าว รวมถึงให้การสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เนื่องจากสภาพบริเวณดังกล่าวเป็นป่ารกชุ่มน้ำเหนือพื้นดิน มีสภาพแห้ง หญ้าทับถมหนาเป็นเชื้อไฟอย่างดี แม้ทำการดับแล้ว เมื่อมีอากาศร้อนแห้งแล้ง ประกอบกับลมพัดแรงทำให้ไฟได้ปะทุขึ้นเป็นระยะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดับเพลิงจบสงบสิ้นเชิงเมื่อวันที่ 3 เม.ย.67 ส่วนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนสำนักงานเขตฯ ได้ประสานแจ้งเจ้าของที่ดิน เพื่อรับทราบเหตุที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นและฝ่ายเทศกิจ
ได้มีหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินดำเนินการแก้ไข เพื่อมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ยังมีมาตรการเชิงรุกป้องกันปัญหาเพลิงไหม้ โดยเผยแพร่ประกาศ กทม. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเจ้าของที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ามิให้เผาหญ้าและขยะในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนประสาน สน.ท้องที่ กวดขันจับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้าหรือขยะ และลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุไฟไหม้หญ้าและกองขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดในช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ซึ่ง สปภ.เป็นหน่วยสนับสนุนสำนักงานเขตในการควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยเร่งรัดออกปฏิบัติการดับเพลิงไหม้หญ้า หรือการเผาชีวมวลต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในช่วงตั้งแต่เดือน ธ.ค.66 ถึงเดือน พ.ค.67 เป็นช่วงเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า สภาพการใช้งาน และขนาดของสายไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากอัคคีภัยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งขอให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเจ้าของที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ามิให้มีการเผาหญ้าและขยะในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนประสาน สน.ท้องที่ กวดขัน จับกุม ผู้ที่กระทำการเผาหญ้าหรือขยะ และลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า หากประชาชนพบเหตุไฟไหม้หญ้า กองขยะ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit