บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้า "โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร" แบ่งปันน้ำปุ๋ยจากระบบบำบัดของฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ส่งให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในชุมชนรอบสถานประกอบการ บรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้
นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของซีพีเอฟ ดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร นับตั้งแต่ปี 2564 ด้วยการนำน้ำจากระบบไบโอแก๊ส (Biogas) ที่ผ่านการบำบัดแล้ว ส่งให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในพื้นที่ใกล้เคียง ใช้ในสวนปาล์มน้ำมัน ไร่แตงโม ฟักทอง อ้อย ข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์ สำหรับปี 2566 คอมเพล็กซ์ไก่ไข่จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ฟาร์มสันกำแพง ฟาร์มจักราช ฟาร์มหนองข้อง ฟาร์มอุดร และฟาร์มจะนะ แบ่งปันน้ำปุ๋ยไปกว่า 181,000 ลูกบาศก์เมตร ให้กับพื้นที่การเกษตรมากกว่า 145 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งแก่พี่น้องเกษตรกร และมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำให้กับชุมชน
"ซีพีเอฟ มีเป้าหมายในการไม่ปล่อยน้ำทิ้งออกภายนอกฟาร์ม หรือ Zero Discharge โดยน้ำหลังการบำบัดด้วย Biogas ที่ยังคงมีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับพืชที่เรียกว่า "น้ำปุ๋ย" ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มทั้งรดต้นไม้ สนามหญ้า และแปลงผักปลอดภัยที่บุคลากรปลูกในพื้นที่ว่างของฟาร์ม เมื่อเกษตรกรรอบฟาร์มเห็นผลสำเร็จพืชพันธุ์เติบโตดี จึงติดต่อขอรับน้ำไปใช้รดพืชผลทั้งในช่วงแล้งและช่วงปกติตลอดปี น้ำปุ๋ยและกากตะกอนที่ส่งต่อสู่เกษตรกรมีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าปุ๋ย ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี" นายสมคิด กล่าว
ทางด้าน นายหล๊ะ ดุไหน ต้นแบบเกษตรกรที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ใช้น้ำปุ๋ยรดสวนปาล์ม 10 ไร่ และใช้ในแปลงปลูกฟักทอง 10 ไร่ รอบการผลิตที่ผ่านมาน้ำปุ๋ยซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ช่วยให้ได้ผลผลิตฟักทองมากถึง 20,000 กิโลกรัม มีกำไร 200,000 บาท ส่วนรอบผลิตปัจจุบันคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ล่าสุดขยายความสำเร็จไปใช้กับไร่แตงโมอีก 10 ไร่ ผลผลิตดีมาก เถาแตงแข็งแรง มีดอกมาก ติดผลดก แตงลูกใหญ่น้ำหนักดี น่าจะสร้างกำไรได้อย่างแน่นอน และยังมองหาแนวทางขยายการผลิตในพืชชนิดอื่นๆต่อไป
ส่วน นายวิโรจน์ ใจด้วง เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ ที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสันกำแพ จ.เชียงใหม่ โดยใช้น้ำปุ๋ย 720 ลูกบาสก์เมตรต่อรอบการผลิต ในการรดหญ้าเนเปียร์ 6 ไร่ ใช้เทคนิคผสมน้ำปุ๋ยกับน้ำคลอง ในอัตราส่วน 1:1 สามารถปลูกหญ้าเนเปียร์ได้ 4 รอบต่อปี ช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ย 16,000 บาทต่อปี หลังจากที่ได้ใช้น้ำปุ๋ย พบว่าต้นหญ้าโตเร็วกว่าที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี ต้นอวบแน่น ใบใหญ่ ได้ผลผลิตที่ดีมาก ปัจจุบันไม่มีภาระต้นทุนค่าปุ๋ยอีกเลย และขอขอบคุณซีพีเอฟที่จัดโครงการฯนี้ ที่ช่วยให้ผ่านพ้นภัยแล้งและช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร
ซีพีเอฟ เดินหน้า "โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร" สู่ปีที่ 23 ทั้งในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ภายใต้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและช่วยลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดหลัก 3Rs ทั้งการลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (Reduce) การนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ตามกลยุทธ์และเป้าหมายความยั่งยืน "CPF 2030 Sustainability in Action" สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ./
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit