นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทาง ดังนี้ (1) RRTTPR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain) Reach&Recruit : การจัดบริการเชิงรับและเชิงรุกในการให้ข้อมูลความรู้และชักชวนตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ในสถานศึกษา สถานบันเทิง และจุดรวมตัวของกลุ่มเป้ามาย โดยร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและ NGO (2) Test &Treat : การตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบิกจ่ายตามสิทธิและไม่เสียค่าใช้จ่ายในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเสี่ยงสูง และกลุ่มผู้ไร้สิทธิ หากพบผู้ติดเชื้อให้บริการดูแลรักษา หรือส่งต่อตามสิทธิการรักษา (3) Prevention : ส่งเสริมการป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และยาป้องกันก่อน-หลังการติดเชื้อ HIV (PrEP/PEP) และ (4) Retain : การติดตาม ผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงติดตามป้องกันให้ผลเป็นลบอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันได้จัด ให้มีระบบบริการสุขภาพกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยจัดหาและกระจายถุงยางอนามัย สารหล่อลื่นให้กลุ่มเป้าหมาย (เยาวชนในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา สถานบันเทิง และสถานประกอบการ) พร้อมทั้งวางแผนและจัดบริการและติดตามประเมินผลร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ที่ Pride Clinic เปิดบริการในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.20 แห่ง คลินิกรักปลอดภัย (ดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 9 แห่ง) หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาผ่าน Line OA @prepbangkok Facebook Iloveclub และสายด่วน 06 3498 9508
ทั้งนี้ ในปี 2566 กทม.ได้รับรายงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวน 5,175 ราย อัตราป่วย 93.90 ต่อประชากรแสนคน พบมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ โรคซิฟิลิส (Syphilis) 2,745 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 49.81 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ โรคหนองใน (Gonorrhoea) 1,322 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 23.99 ต่อประชากรแสนคน โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) 960 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 17.42 ต่อประชากรแสนคน Chancroid (แผลริมอ่อน) 135 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2.45 ต่อประชากรแสนคน กามโรคต่อน้ำเหลือง/ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum) 13 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.24 นอกจากนี้ พบว่าปี 2561-2565 เยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ซิฟิลิส ปี 2561 อัตราป่วย 53.1 ต่อแสนประชากร เพิ่มเป็น 91.2 ต่อแสนประชากรในปี 2565 รองลงมาคือ โรคหนองใน ปี 2562 อัตราป่วย 28.0 ต่อแสนประชากร เพิ่มเป็น 34.4 ต่อแสนประชากรในปี 2565
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit