มกอช. ชูระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารของไทย (THRASFF) มุ่งเตือนภัยผู้บริโภค ยกระดับความปลอดภัยอาหาร
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แนะนำระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของไทย เป็นแหล่งรวมข้อมูลการตรวจพบอาหารที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนำเข้าและส่งออก มุ่งเน้นเตือนภัยผู้บริโภค พร้อมกับนำข้อมูลไปจัดทำนโยบายภาครัฐ เพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารในประเทศ แก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของไทย (Thailand Rapid Alert System for Food and Feed: THRASFF) เป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ เมื่อมีการตรวจพบสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความไม่ปลอดภัย เช่น พบสารเคมีทางการเกษตรตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ครอบคลุมไปถึงสินค้านำเข้า สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาด สินค้าตรวจก่อนส่งออก และสินค้าส่งออกที่ได้รับแจ้งเตือนจากประเทศปลายทาง โดย มกอช. เป็นผู้ก่อตั้งและดูแลระบบ อ้างอิงจากระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (Rapid Alert. System for Food and Feed: RASFF) และระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารของอาเซียน (ARASFF) ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเครือข่ายระบบ THRASFF จำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ มกอช.
เลขาธิการ มกอช. ได้กล่าวเน้นย้ำถึงประโยชน์ของระบบ THRASFF ในฐานะเครื่องมือในการสื่อสารความเสี่ยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และระหว่างภาครัฐกับผู้บริโภค โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมเว็บไซต์เพื่อเรียกดูข้อมูลสินค้าเกษตรและอาหารที่แต่ละหน่วยงานตรวจพบว่ามีความไม่ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยอาหารแก่ผู้บริโภค อีกทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยง โดยสามารถเข้าเยี่ยมชมเวบไซต์ได้ที่ http://www.thrasff.net/
เลขาธิการ มกอช. เพิ่มเติมอีกว่า หากทุกหน่วยงานนำเข้าข้อมูลอย่างครอบคลุมและสม่ำเสมอ จะเป็นการบูรณาการข้อมูลสถิติด้านความปลอดภัยอาหารในภาพรวมของไทย ทำให้ไทยมีฐานข้อมูลปัญหาความปลอดภัยอาหารที่พบ ทั้งในสินค้านำเข้า ส่งออก และวางจำหน่ายในตลาด ว่าสินค้าชนิดใดมีการตรวจพบการปนเปื้อนได้บ่อย และตรวจพบสารอันตรายประเภทใดบ้าง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดทำนโยบายการควบคุมความปลอดภัยอาหาร เพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารภายในประเทศ ตลอดจนป้องกันและแก้ไขปัญหาการพบสารตกค้างในสินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย
"มกอช. ในฐานะผู้ก่อตั้งและดูแลระบบ THRASFF ของไทยและระบบ ARASFF ของอาเซียน ได้มีการผลักดันให้หน่วยงานเครือข่ายของไทยนำเข้าข้อมูลอย่างครอบคลุมและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรองรับนโยบายภายใต้กรอบความตกลงด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียน (AFSRFA) เนื่องจากอาเซียนมีแนวโน้มจะผลักดันให้การแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยอาหารในระบบ ARASFF เป็นภาคบังคับในอนาคต" เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit