บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) ประกาศผลประกอบการประจำปี 2566 ยอดขายโต 3.9 เปอร์เซ็นต์ สร้างยอดขายสูงสุดเป็นครั้งแรกกว่า 5,081.3 ล้านบาท พร้อมจ่ายปันผลในอัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรที่สูงถึง 74% เป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุนภายในโรงงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จัดพอร์ตสินค้า ให้ตอบโจทย์พฤติกรรม ความต้องการ และแนวโน้มตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า "ปีที่ผ่านมาความท้าทายของเราคือการที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำและสัตว์บกปรับตัวสูงกว่าปีก่อนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แต่เนื่องจาก TFM ได้เริ่มทรานฟอร์เมชั่นระบบปฎิบัติการด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ SAP เพื่อใช้ในการบริหารทรัพยากรและติดตามผล จึงทำให้สามารถบริหารจัดการและควบคุมต้นทุนการผลิตภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพได้ดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 5,081.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 3.9 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรขั้นต้น 439.6 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อนถึง 8.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กำไรสุทธิ ปี 2566 อยู่ที่ 85.3 ล้านบาท แม้จะลดลง 22.1 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินงานขาดทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งในไตรมาสที่ 2-4 การที่ TFM เดินหน้าปรับตัวทั้งระบบในปีที่ผ่านมาทำให้สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ สามารถจ่ายปันผลได้ที่ 0.13 บาทต่อหุ้น"
ในปี 2566 TFM มีสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น อาหารกุ้ง 52.8 เปอร์เซ็นต์ อาหารปลา 36.5 เปอร์เซ็นต์ อาหารสัตว์บก 8.7 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ ราว 1.9 เปอร์เซ็นต์ และหากดูสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค แบ่งเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) ในประเทศไทย 92.4 เปอร์เซ็นต์, บริษัท ไทยยูเนี่ยน คาริสมา เลสทารี จำกัด (TUKL) ในประเทศอินโดนีเซีย 6 เปอร์เซ็นต์ และ บริษัท เอเอ็มจี ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (AMG-TFM) ในประเทศปากีสถาน 1.6 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อดูภาพรวมธุรกิจปี 2566 หากแยกตามผลิตภัณฑ์ พบว่า อาหารกุ้ง ของ TFM มีอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดโดยสร้างยอดขายได้ถึง 2,804.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ยอดขายอาหารกุ้งในไทย 2,528.1 ล้านบาท เติบโต 0.2 เปอร์เซ็นต์ และยอดขายกลุ่มอาหารกุ้งในประเทศอินโดนีเซีย ที่ทำได้ 276.4 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 187.3 เปอร์เซ็นต์
ส่วนยอดขายอาหารสัตว์บก อยู่ที่ 481.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ จาก AMG-TFM ในประเทศปากีสถาน โดยปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองผลิตภัณฑ์เติบโตมาจากการวางกลยุทธ์การขาย และการขยายตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการขายสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายอาหารปลา อยู่ที่ 1,710.5 ล้านบาท ลดลง 1.9 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น ยอดขายอาหารปลาในไทย 1,676.7 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการขายอาหารปลากะพงที่เพิ่มสูงขึ้น 30.7 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน ส่วนยอดขายอาหารปลาในต่างประเทศ ลดลง 72.6 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสถานการณ์ราคาปลาในประเทศปากีสถานตกต่ำ ส่งผลต่อความต้องการในการใช้อาหารสำเร็จรูปในการพาะเลี้ยงปลา
"กลยุทธ์ของเราในปี 2567 จะเป็นปีแห่งการผลักดันด้านการขายและการตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการออกสินค้าแบรนด์ใหม่เพื่อเจาะกลุ่มอาหารปลาน้ำจืดและปลาสวยงาม รวมถึงการทำการตลาดอาหารกุ้งในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเติบโตของบริษัท โดยบริษัทฯ จะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า จากปีที่ผ่านมาที่เราได้ทำงานอย่างหนักในการบริหารจัดการภายในโรงงานของเรา" นายพีระศักดิ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit