นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกของ กทม.ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค.67 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพฯ 762 ราย ซึ่งยังต่ำกว่ายอดผู้ป่วยเดือน ม.ค.66 (1,121 ราย) แต่มีค่ามากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง (661 ราย) อัตราป่วย/ประชากรแสนราย 13.87 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหากไม่รณรงค์ป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสม โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาได้แก่ อายุ 15-34 ปี ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ที่ผ่านมา สนอ.ได้ร่วมกับสำนักงานเขตดำเนินมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยพัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ 5ป 1ข คือ ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง ปล่อยปลาลงในอ่าง เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยขัดล้างภาชนะใส่น้ำก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ พร้อมทั้ง "3 เก็บป้องกัน 3 โรค" คือ เก็บบ้าน ไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง ทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย ภายในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ ได้แก่ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง
นอกจากนั้น สำนักงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (สรส.) ยังได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีไข้เลือดออก (EOC) ในพื้นที่ 15 เขต ที่มีอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงสุด 15 ลำดับแรกของปี 2566 มีการแจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกให้หน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.สัปดาห์ละครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาด รวมทั้งจัดอบรมพัฒนาความรู้และซ้อมแผนการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที อีกทั้งรณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด รวมถึงวิธีสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแผ่นพับและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต เช่น ผู้ที่มีโรคอ้วน มีโรคประจำตัว (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง) หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับ มาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีอาการเลือดออกส่วนใหญ่พบที่ผิวหนังควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและให้รับประทานยาพาราเชตามอล (Paracetamol) และหลีกเลี่ยงยาประเภท NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit