ไม่ได้ไม่รัก แต่รักไม่ได้ "โรคกลัวความรัก" ภาวะกลัวถึงขั้นตัวสั่น หายใจติดขัด แพทย์ รพ. วิมุต ชี้ ปรึกษาแพทย์ก็หายได้ ก่อนรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิต

14 Feb 2024

ทุกคนคงจะเคยมีความรู้สึกดี ๆ หรือมี 'ความรัก' ให้กับใครสักคน และยิ่งในช่วงเดือนแห่งความรักแบบนี้ มองไปทางไหนก็เห็นความรักเต็มไปหมด แต่สำหรับบางคน ความรักก็ไม่ได้สวยงามเสมอไป ด้วยปมในอดีตและประสบการณ์ความรักแย่ ๆ การเริ่มต้นความสัมพันธ์อาจทำให้บางคนถึงกับตัวสั่น ปากซีด เหงื่อออกผิดปกติ ซึ่งอาจเข้าข่าย "โรคกลัวความรัก" โรคกลัวชนิดหนึ่งที่ทำให้เราเลี่ยงการมีความรัก และหากไม่หันมาดูแลหัวใจตัวเองดี ๆ ก็อาจก็กระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้ วันนี้ พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ จิตแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ รพ. วิมุต จะมาเล่าถึงอาการและสาเหตุของโรคกลัวความรัก พร้อมแนวทางการรักษา เพื่อให้เรามีความรักที่สดใสได้เหมือนทุกคน

ไม่ได้ไม่รัก แต่รักไม่ได้ "โรคกลัวความรัก" ภาวะกลัวถึงขั้นตัวสั่น หายใจติดขัด แพทย์ รพ. วิมุต ชี้ ปรึกษาแพทย์ก็หายได้ ก่อนรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิต

"โรคกลัวความรัก" ไม่ต่างจากโรคกลัวอื่น

โรคกลัวความรัก (Philophobia) คือ โรคกลัวเฉพาะเจาะจง (specific phobia) ที่เหมือนกับโรคกลัวความสูงหรือกลัวเลือด แต่ในกรณีนี้คือการกลัวที่เกี่ยวข้องกับความรัก ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะกลัวการเริ่มต้นความสัมพันธ์และกลัวการตกหลุมรัก และหากเริ่มรู้สึกชอบหรือมีคนเข้ามาจีบอาจรู้สึกเครียด รวมถึงมีอาการทางกาย เช่น ตัวสั่น เหงื่อออก ปากซีด ใจสั่น แน่นอก หายใจไม่ออก เป็นต้น พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า "จริง ๆ โรคนี้แต่ละคนก็มีอาการมากน้อยต่างกันไป บางคนอาจรู้สึกประหม่า กลัว พยายามหลีกหนีคนที่เข้ามาสานความสัมพันธ์ หรืออาจถึงขั้นรีบจบความสัมพันธ์แบบกะทันหัน ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการกลัวมากน้อยขนาดไหน"

แผลในใจ-อดีตที่ไม่สวยงาม ส่องสาเหตุ "โรคกลัวความรัก"

โรคกลัวความรักสามารถเกิดได้กับทุกคน โดยมีสาเหตุจากการพบเจอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความรักที่ไม่ดี จนเกิดอาการกลัวขึ้นมา เช่น ผู้ที่เห็นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ดีในวัยเด็ก พ่อแม่หย่าร้างกัน เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือไม่ได้รับความสนใจ รู้สึกถูกทอดทิ้ง ส่วนบางกลุ่ม ในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีความรัก อาจเคยถูกปฏิเสธ หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีจนสร้างบาดแผลในใจ ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอ เช่น เด็กที่เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ๆ จึงกลัวการสร้างความสัมพันธ์ เพราะรู้สึกว่าความรักหรือความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ไม่มั่นคง "คนที่ผิดหวังในความรักก็ไม่ได้ต้องเป็นโรคนี้ทุกคน อยู่ที่ว่าแต่ละคนเจอมาหนักขนาดไหนหรือรับมือกับมันได้เท่าไหร่ สมมติว่าเราเจอมาหนัก แต่เรารับมือได้ดี มีครอบครัวหรือเพื่อนคอยช่วยเหลือ มันก็อาจเป็นแค่แผลเล็ก ๆ กลับกันถ้าเราเกิดรับมือไม่ไหว ความรักก็อาจเป็นเรื่องน่ากลัวจนกลายเป็นโรคกลัวความรักไปเลย" พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าวเสริม

บางคนอาจสงสัยกว่าการเป็นโรคกลัวความรักจะนำไปสู่การเข้าสังคมไม่ได้หรือเปล่า เพราะผู้ป่วยมักจะหลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งจริง ๆ คือไม่ได้มีผลแต่อย่างใด เพราะโรคนี้จะเกี่ยวข้องกับการกลัวความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่มีภาวะนี้ยังสามารถมีเพื่อนหรือทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ

โรคกลัวความรัก บำบัดสม่ำเสมอก็หายได้

คนที่เป็นโรคกลัวความรักสามารถสังเกตอาการตัวเองได้ไม่ยาก โดยหากรู้สึกหวาดกลัวความสัมพันธ์จนเกิดเป็นความวิตกกังวล เก็บไปฝันร้าย หรืออาการอื่น ๆ ที่รู้สึกว่ารบกวนการใช้ชีวิต ก็นับว่าเป็นโรคกลัวความรักแล้ว ซึ่งแนะนำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษา พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ เล่าถึงกระบวนการรักษาว่า "โดยปกติการรักษาโรคกลัวความรัก จะมีวิธีรักษาเหมือนโรคกลัวอื่น ๆ โดยเน้นปรับความนึกคิด และใช้วิธีพฤติกรรมบำบัดความกลัว ซึ่งผู้ป่วยต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการกลัวโรคนี้ จากนั้นจึงปรับความคิดไปทีละนิด หรือบางคนอาจใช้วิธีเผชิญหน้ากับความกลัว จนเริ่มคุ้นชินกับมัน บางกลุ่มอาจใช้วิธีเริ่มสร้างสัมพันธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป ก็จะช่วยให้เราสบายใจมากขึ้นและมีความรักได้โดยไม่มีอาการกลัว"

"ความรักจริง ๆ เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่บางคนอาจเจอสถานการณ์บางอย่างที่สร้างแผลใหญ่ในใจ จนนำไปสู่การเป็นโรคกลัวความรัก ซึ่งถ้าใครมีภาวะนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะสามารถรักษาหรือทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งการรักษาอาการนี้ก็เหมือนกับการมอบความรักให้กับตัวเอง และเมื่ออาการดีขึ้น เราจะได้กลับมามอบความรักให้กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข" พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 18 ศูนย์สุขภาพใจ หรือโทรนัดหมาย 02-079-0078 เวลา 08.00-17.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX

HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit