นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์พบขอทานต่างด้าวเพิ่มขึ้นบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แนวถนนสุขุมวิทว่า สำนักงานเขตคลองเตยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ และสถานีรถไฟฟ้าอโศก พบผู้พิการมาแสดงความสามารถพิเศษ (ร้องเพลง) บริเวณสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ 1 ราย และหญิงขอทานบริเวณใต้สะพานลอยข้ามแยกอโศก 1 ราย โดยในส่วนของผู้พิการได้แนะนำให้ไปแสดงบริเวณหน้าอุทยานเบญจสิริ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่แสดงความสามารถพิเศษ กรณีหญิงขอทาน เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ได้วิ่งหนีไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องขอทาน คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคมตรวจสอบคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ขอทาน ตลอดแนวถนนสุขุมวิท ถนนรัชดาภิเษกเป็นประจำ ส่วนกรณีคนต่างด้าวได้ประสานส่งต่อสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อผลักดันออกนอกประเทศ หากเป็นคนไทยจะนำส่งศูนย์ช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พม.แต่ส่วนใหญ่จะไม่ขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2547 การให้ความช่วยเหลือจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจและฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมร่วมตรวจสอบบริเวณถนนสุขุมวิทเป็นประจำทุกวัน
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวว่า สพส.ได้แก้ไขปัญหาคนขอทานต่างด้าว ขอทาน และคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ฯลฯ โดยกรณีพบคนขอทานต่างด้าวและขอทานได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในบริเวณที่มีผู้ทำการขอทาน เช่น ย่านธุรกิจ ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชน และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT โดยสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ทำการขอทานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่สาธารณะ กรณีพบผู้ทำการขอทานต่างด้าว จะนำส่งสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึก การจับกุม เปรียบเทียบปรับ และส่งไป สตม.เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวได้ถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 กรณีพบคนเร่ร่อน ได้เปิดพื้นที่สวัสดิการ "จุดบริการสวัสดิการสังคม (drop in)" ในพื้นที่เขตพระนคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและบริเวณตรอกสาเก ให้บริการทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเร่ร่อนให้ดีขึ้น โดยจุดบริการฯ ทั้ง 2 แห่ง ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาปัญหาในด้านต่าง ๆ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์สภาพปัญหา เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุนบริการที่จำเป็นตามสิทธิที่พึงได้รับ เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน การรักษาพยาบาล ส่งเสริมด้านอาชีพ จัดหาที่พักอาศัย ฯลฯ รวมถึงประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีคนเร่ร่อนประสงค์กลับคืนสู่ครอบครัวและการรวบรวมข้อมูล เพื่อติดตามประเมินผลการให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนั้น สพส.ได้ร่วมกับ พม.กำหนดแนวทางเพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิททั้งปัญหาผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ขอทาน คนเร่ร่อน และการนำสุนัขมานั่งขอทาน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีแผนการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติงดการให้เงินแก่ผู้ทำการขอทานตามแนวสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่สาธารณะของ กทม.โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน มี.ค.67 ในรูปแบบการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาพม่า และภาษาญี่ปุ่น เพื่อลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายข้างต้นมิให้ใช้พื้นที่สาธารณะหารายได้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมีการนำสุนัขมานั่งขอทานนั้น อาจเป็นการใช้สัตว์ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ เจ้าของสัตว์ต้องจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่ง กทม.จะประสานกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 การทารุณกรรม หมายความว่า การกระทำ หรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกาย หรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit