นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาภาคใต้ของประเทศไทยเผชิญกับมรสุม และภาคเหนือถูกมวลอากาศเย็นเข้าปกคลุม ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เหมาะต่อการเกิดโรคพืชที่มีสาเหตุจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารานั้น มักพบระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง และเชื้อราสาเหตุสามารถแพร่กระจายได้โดยลม ฝน การเคลื่อนย้ายกล้าพันธุ์หรือวัสดุปลูกในแปลงที่เกิดโรค ตลอดจนมีพืชอาศัยค่อนข้างหลากหลาย เช่น วัชพืช สมุนไพร พืชผักสวนครัว ไม้ผลบางชนิด และพืชจำพวกเฟิน เป็นต้น ทำให้เชื้อราสาเหตุของโรคสะสมอยู่ในสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น เกษตรกรจึงต้องหมั่นสำรวจสวนยางพารา รวมทั้งเฝ้าระวังและสำรวจพืชปลูกในบริเวณสวนยางหรือพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราในกลุ่มจังหวัดที่ปลูกยางพาราในภาคใต้ และจังหวัดน่านซึ่งอยู่ในภาคเหนือ จึงเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดน่านลงพื้นที่ช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการกำจัดโรคดังกล่าวแก่เกษตรกรโดยด่วนที่สุด
ล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ได้นำไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้งานลงพื้นที่ไปยังตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และดำเนินการฉีดพ่นเพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุ เพื่อควบคุมการลุกลามของโรคดังกล่าวในสวนยางพาราของเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว พร้อมถ่ายทอดความรู้และวิธีการรับมือกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราให้แก่เกษตรกรในกิจกรรม Kick off "การควบคุมและป้องกันกำจัดโรคใบร่วง (ชนิดใหม่) ยางพารา" ที่ดำเนินการร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดน่าน โดยจัดขึ้น ณ แปลงของนางกาญจนา อินทรกำเนิด บ้านปางส้าน หมู่ที่ 4 ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ราว 47 ราย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินการต่อเนื่องนั้น ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ ได้สนับสนุนหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้แก่สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ซึ่งจะดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะขยายเชื้อดังกล่าวและนำไปใช้งานยังแปลงเพาะปลูกหรือสวนยางพาราที่พบอาการของโรคต่อไป โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะช่วยควบคุมเชื้อราสาเหตุที่ยังคงมีชีวิตอยู่บนใบยางพาราที่ร่วงหล่นบริเวณพื้น ดังนั้นเกษตรกรควรหว่านหรือฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้ครอบคลุมบนใบยางพาราที่ร่วงหล่นทั่วทั้งแปลง ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอจะลงพื้นที่ตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อรายงานความก้าวหน้าให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบพร้อมขับเคลื่อนงานให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรต่อไป ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit