นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ กทม.ในปี 2567 ว่า สนน.ได้จัดเตรียมแผนรองรับและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยติดตามปริมาณการเก็บกักน้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำทุกสัปดาห์ สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในของเมืองฝั่งพระนคร (ด้านตะวันออก) ได้บริหารจัดการน้ำโดยนำน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายหลัก รวมถึงน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียของ กทม.เข้ามาถ่ายเทหมุนเวียน เพื่อรักษาระบบนิเวศ เจือจางพร้อมกับปรับคุณภาพน้ำ และใช้ในการเกษตรกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยใช้สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำของ กทม.ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและทางด้านการเกษตร
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำจากน้ำทะเลหนุนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก สนน.ได้ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในคลองสายหลักและคลองสาขาต่าง ๆ โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำตามคลองต่าง ๆ รวมถึงแผนการควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาภายในคลอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรได้ ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้ประสานกรมชลประทานผันน้ำผ่านคลองสิบสามและคลองต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในคลองสายหลักต่าง ๆ ในพื้นที่ด้านตะวันออกทั้งระดับน้ำและปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
อย่างไรก็ตาม ในระยะเร่งด่วน กทม.ได้ขุดลอกคลองสายรอง พร้อมจัดเก็บวัชพืชภายในคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำในคลองให้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ส่วนแผนในระยะยาว กทม.ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำด้วยการทดน้ำ หรือเก็กกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน เพื่อไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงอาชีพทำการเกษตรและมักประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรอาจมีไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณคลองสิงห์โต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 800,000 ลบ.ม.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit