แม้ว่า "เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567" หรือ "Bangkok Design Week 2024" (BKKDW2024) จะจบลงไปแล้ว ซึ่งจัดตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ใน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ กับกิจกรรมกว่า 600 โปรแกรม แต่กระแสของการตั้งคำถามถึงจุดประสงค์และผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดเทศกาลฯ ล้วนเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจ การจัด 'เทศกาลฯ' ที่เกิดขึ้นในทุกปี มาดูกันว่านอกจากเทศกาลฯ จะช่วยแต่งเติมชีวิตชีวาให้กับเมืองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในพื้นที่ในช่วงเวลาที่จัดงานแล้ว ยังสามารถยกระดับงานออกแบบเพื่อทำให้เมืองนั้นดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
'เทศกาลฯ' คือ 'แพลตฟอร์ม' พัฒนาเมืองด้วยงานออกแบบที่ไม่มีเส้นชัย
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 (ตั้งแต่ปี 2561 - 2567) ด้วยจุดประสงค์ในการเป็น 'แพลตฟอร์ม' ที่พัฒนา 'ผู้คน ธุรกิจ ย่านและเมืองสร้างสรรค์' ด้วยการประยุกต์ใช้กระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของเมืองในมิติต่าง ๆ รวมทั้งเติมเต็มบรรยากาศของกรุงเทพฯ ให้ศิวิไลซ์มากขึ้น ทั้งยังเปิดเวทีให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขา ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่บนพื้นที่จริง พร้อมเปิดโอกาสการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และภาคการผลิตจริง (Real Sector) หากนับมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 6 ปีที่ผ่านมาของการจัดเทศกาลฯ พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,948 ล้านบาท โดยกระจายรายได้สู่พื้นที่จัดงานและผู้ร่วมจัดงานทุกภาคส่วน และมีผู้เยี่ยมชมงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ปีละไม่น้อยกว่า 300,000 คน และปีล่าสุด (2567) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างเทศกาลฯ ไม่น้อยกว่า 1,250.2 ล้านบาท และผู้เข้าร่วมงาน 409,445 คน
แต่ละปี เทศกาลฯ จะกำหนดธีมของการจัดงาน ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับของงานต้นแบบ/งานทดลอง ไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม โดยจัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่ในระดับย่านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ จากเดิมในปี 2561 เทศกาลฯ จัดขึ้นใน 1 ย่าน (เจริญกรุง - ตลาดน้อย) จนขยายพื้นที่ของการจัดงานไปเป็น 15 ย่าน ในช่วงระยะเวลาแค่ 7 ปี การขยายพื้นที่การจัดงานดังกล่าวนับว่าตรงตามเป้าหมายของเทศกาลฯ ที่ตั้งใจให้ไม่จำกัดการจัดงานไว้ที่ย่านใดย่านหนึ่งนั้น ถือเป็นงานที่เปรียบเสมือนการวิ่ง 'มาราธอน' ที่ไม่มีเส้นชัย เพราะการออกแบบเมืองกรุงเทพฯ (ที่เต็มไปด้วยบาดแผล) กับวลีคุ้นหู 'กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว' ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงหลักปี แต่ต้องอาศัยการยืนระยะหลาย 10+ ปี โดยต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การศึกษาและวิจัยพื้นที่และบริบทของเมืองไปพร้อม ๆ กัน
'เทศกาล' จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำอะไรใหม่ ๆ ให้กรุงเทพฯ ดียิ่งขึ้น เป็นการทดลอง/ทดสอบไอเดียของนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ บนสนามจริงที่ต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration: BMA) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาเมืองนั้นต้องอาศัยตัวแปรและปัจจัยหลายด้านประกอบกัน โดยเทศกาลฯ ก็เปิดโอกาสให้งานออกแบบเพื่อเมืองได้พัฒนาต่อ หากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนับสนุนเล็งเห็นความสำคัญของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
สิ่งที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ทำมาตลอด จึงเป็น 'Festivalisation' กล่าวคือการนำแนวคิดและวิธีสร้างประสบการณ์แบบเทศกาลมาใช้ในการขับเคลื่อนเมือง โดยมีเป้าหมายคือการสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนหลังจบเทศกาล ที่ไม่ใช่เพียงอีเวนต์ที่จัดแล้วจบไป แต่ช่วยจุดประกายให้ผู้คนและย่านเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อในระยะยาวมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการพัฒนาหลาย ๆ ย่านรวมกัน จึงทำให้เกิด 'เมืองสร้างสรรค์' (Creative City) ที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัว นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
'เทศกาลฯ' ออกแบบเพื่อใคร?
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นเทศกาลสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงมีส่วนผลักดันให้กรุงเทพฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) สาขาการออกแบบ (Bangkok City of Design) เมื่อปี 2562 กล่าวคือ 'เทศกาลฯ' เป็นของทุกคนที่ต้องการทำให้ 'กรุงเทพฯ' เป็นเมืองที่ทั้ง 'น่าอยู่' 'น่าลงทุน' และ 'น่าเที่ยว' ผ่านการออกแบบใน 4 มิติ ได้แก่
กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้งานและถูกปล่อยละเลยหลายพื้นที่ ทั้งส่วนที่เป็นของหน่วยงานรัฐและเอกชน หนึ่งในนั้นคือหอเก็บน้ำประปาแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณแยกแม้นศรี ย่านพระนคร ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 20 ปี ทว่าพื้นที่แห่งนี้กลับมีคุณค่าน่าสนใจอย่างมากในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม โดยกลุ่มผู้ขับเคลื่อนของย่านพระนคร 'ศูนย์มิตรเมือง' (Urban Ally) ได้จัดทำโปรเจกต์ 'ประปาแม้นศรี' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 - 2567 เปิดพื้นที่ให้คนในย่านและนอกย่านได้มามีปฏิสัมพันธ์กัน และใช้แนวคิด Festivalisation ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่พื้นที่สาธารณะในเมืองที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม นอกจากโปรเจกต์นี้จะทำให้พื้นที่ทิ้งร้างได้รับการปลุกชีวิตขึ้นมาใหม่ในช่วงวันงาน ยังทำให้หลายคนเห็นศักยภาพของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ในฐานะหมุดหมายสำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมกรุงเทพกลางแปลง ที่นอกจากจะช่วยดึงดูดผู้คนและเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับย่านแล้ว ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างความผูกพันระหว่างคนกับเมืองได้มากขึ้น นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีแผนเดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ด้วยการใช้พื้นที่ของ 'ประปาแม้นศรี' เป็น 'บ้านอิ่มใจ' เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านในอนาคต ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่ทิ้งร้างให้ถูกใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทางด้านอาคารเก่าสีส้มอายุนับร้อยปีในย่านเจริญกรุง - ตลาดน้อย อย่าง 'อาคารชัยพัฒนสิน' คุณสุกฤษฐิ์ ศรหิรัญ และคุณฐิติภา ศรหิรัญ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของย่านหลังการจัดเทศกาล จึงพัฒนาอาคารเก่าอายุกว่าร้อยปีของคุณตาที่ถูกปิดไว้และไม่ได้ใช้งาน ให้เป็นลานสเกตในร่ม 'Jump Master Skate Haus' สำหรับให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มาสัมผัสประสบการณ์ในพื้นที่มากขึ้น พร้อมการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดงานหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2565 และในปี 2567 'อาคารชัยพัฒนสิน' ได้ขยายสู่การเป็น Community Space ในชื่อว่า 'The Corner House Bangkok' ซึ่งเป็นพื้นที่พบปะของกลุ่มคนสร้างสรรค์ ที่อัดแน่นไปด้วยงานดนตรี ศิลปะ และงานสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่าอาคารเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์สามารถปรับเปลี่ยนตามบริบททางสังคม โดยที่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าของอาคาร แต่เพิ่มฟังก์ชันของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ขับเคลื่อนใหม่ ๆ ให้เข้ามาต่อยอดได้
หัวใจของการจัดเทศกาลคือการเป็นพื้นที่สื่อกลางที่เชื่อมโยงผู้คนหลากหลาย ทั้งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ รวมทั้งผู้คนที่ใช้ชีวิตในย่าน ให้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำไอเดียเหล่านั้นไปใช้แก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างคุณค่าให้ย่าน และทำให้ย่านต่าง ๆ เริ่มต้นขับเคลื่อนพื้นที่ของตัวเองในระยะยาว เช่น ย่าน 'ปากคลองตลาด' ที่เดิมทีเป็นที่รู้จักในฐานะย่านขายดอกไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ อาจารย์หน่อง-ผศ.ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้พื้นที่นี้เป็นโจทย์สำหรับวิชาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและพัฒนาชุมชน และมีการก่อตั้งเพจ Humans of Flower Market: มนุษย์ปากคลองฯ ไว้อยู่แล้ว เมื่อมีการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการนำโปรเจกต์ดังกล่าวมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลฯ เพื่อต่อยอดการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบพัฒนาเมืองกับชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้นำมาสู่ 'ปากคลอง Pop-Up' ที่มีการจัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น ศิลปะจัดวาง นิทรรศการภาพถ่าย สื่อผสมจากเทคโนโลยี AR โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาชมงานออกแบบ แล้วแวะซื้อดอกไม้จากร้านค้าในปากคลองตลาดกลับไป นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่ทำให้ย่านนั้นเชื่อมโยงกับผู้คนได้หลากหลายมิติมากกว่าแค่การเป็นพื้นที่การค้าทั่วไป
นอกจากนี้ ตลาดตะลักเกี๊ยะ ในย่าน 'เจริญกรุง - ตลาดน้อย' ซึ่งแต่เดิมจัดงานอยู่แล้ว มาเข้าร่วมกับเทศกาลเป็นปีที่ 3 โดยปีล่าสุดได้นำเสนอ 'Friendly Market x Bangkok Design Week 2024' ในธีม 'Taste of New Road - Chinatown' (รสชาติใหม่นิวโรด - ไชน่าทาวน์) บอกเล่าให้คนภายนอกได้รับรู้ความพิเศษของวัตถุดิบและเครื่องปรุงในย่าน ที่ท้าทายร้านค้าดั้งเดิมให้ออกแบบเมนูใหม่ ๆ ที่พ่อค้าแม่ค้าในชุมชนได้ Upskill ฝีมือและเพิ่มรายได้ระหว่างการจัดงาน นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปทำขนมดั้งเดิม เช่น ขนมอิ่วก้วย กุยช่ายไส้ข้าวเหนียวทรงเครื่อง และปั้นซาลาเปาเต่า+เขียนเต่า ที่เชื่อมคนต่างรุ่นให้ใกล้ชิดและส่งต่อวัฒนธรรมร่วมกัน อีกทั้งชุมชนตลาดน้อยยังตั้งใจอยากจัดเวิร์กช็อปนี้ให้ทุกคนได้มารับพรต้อนรับปีใหม่จีนไปด้วยกัน
เทศกาลฯ ยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้บทสนทนาเรื่องการออกแบบและพัฒนาเมือง ขยายวงออกไปไกลกว่าแค่ในวงการออกแบบ และทำให้ประเด็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเข้าถึงผู้คนที่หลากหลายได้ง่ายขึ้น เช่น โปรเจกต์ Re-Vendor เจริญกรุง 32 (ปี 2566) โมเดลทดลองการจัดการสตรีทฟู้ดริมทางย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอยเจริญกรุง 32 ที่นำทีมโดย Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ ใช้โอกาสของเทศกาลฯ ชักชวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสตรีทฟู้ดให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ตัวแทนเทศกิจ ตัวแทนผู้ค้า และตัวแทนผู้ซื้อ และนำไอเดียจากทุกฝ่ายมาสร้างเป็นโมเดลทดลองในซอยเจริญกรุง 32 ช่วงที่มีการจัดเทศกาลฯ ผู้ที่แวะมาเที่ยวเทศกาลฯ ก็มีโอกาสได้ทดลองผลงานต้นแบบและให้ฟีดแบ็กเพื่อปรับปรุงโปรเจกต์ให้ดียิ่งขึ้น เทศกาลฯ จึงช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในการให้ไอเดียการพัฒนาเมืองไม่ได้จบอยู่ที่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ปัจจุบันโปรเจกต์นี้ยังคงพัฒนาต่อ และโปรเจกต์ที่ถือเป็นความสำเร็จของเทศกาลฯ ในการนำผลงานไปต่อยอด คือโปรเจกต์ภายใต้โครงการพัฒนาป้ายรถประจำทางในย่านเจริญกรุง (ปี 2561) ที่เรียกได้ว่าเป็นป้ายรถเมล์ที่เปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น โดยกลุ่มนักออกแบบ MAYDAY! ร่วมกับ CEA และสำนักการจราจรและขนส่ง โดยมีการทำเวิร์กช็อปสร้างสรรค์ป้ายรถเมล์จากความต้องการของผู้ใช้งาน จนเกิดเป็นป้ายรถเมล์ที่ส่งต่อให้กรุงเทพมหานครได้นำไปใช้งานได้จริงในปัจจุบัน
คุณค่าประการหนึ่งที่แฝงอยู่ในการจัดเทศกาลฯ คือการทำให้มรดกทางวัฒนธรรมภายในชุมชนที่ใกล้สูญหายไปตามกาลเวลากลับมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง เช่น กิจกรรมของกลุ่ม Sense of Nang Loeng (ปี 2566) ที่นำละครชาตรี ศิลปะการละครอันทรงคุณค่าของชุมชนตลาดนางเลิ้ง ตลาดบกแห่งแรกของไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจัดแสดงในรูปแบบร่วมสมัย เพื่อรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของย่านนางเลิ้งที่เป็นบ้านครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตขึ้นมาใหม่ และดึงดูดความสนใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำความรู้จักนางเลิ้งในอีกแง่มุมหนึ่งกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นนิทรรศการชั่วคราว และต่อยอดชื่อเสียงในด้านอาหารอร่อยของดีประจำย่าน โดยเชิญนักออกแบบและนักสร้างสรรค์มืออาชีพเข้ามาร่วมคิดร่วมลงมือทำไปพร้อม ๆ กับคนในชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่นและบรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้มีช่องทางแสดงออก มีโอกาสสร้างรายได้ ทั้งระหว่างการจัดเทศกาลฯ และต่อยอดไปสู่การทำโปรเจกต์พัฒนาชุมชนในระยะยาว เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จบแล้วไปไหนต่อ?
อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ว่าผลงานออกแบบที่ถูกจัดแสดงตลอด 9 วันในเทศกาลฯ นั้น จะถูกนำไปต่อยอดกับเมืองอย่างไรได้บ้าง?
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 ปีนี้ มาพร้อมโจทย์ที่ท้าทายอย่าง 'HACK BKK' ซึ่ง CEA ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นักออกแบบ/นักสร้างสรรค์ได้ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดและพัฒนากับทาง Bangkok City Lab ของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง พื้นที่สาธารณะ การอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์ในเมือง ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด ทุกภาคส่วนมาร่วมกันประกอบสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น 'เมืองที่น่าอยู่' กว่าที่เคย พร้อมกับกลุ่มผู้ขับเคลื่อนทั้ง 15 ย่าน 1) เจริญกรุง - ตลาดน้อย นักออกแบบ/นักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่ 2) พระนคร โดยผู้ขับเคลื่อน ศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) กลุ่มนักออกแบบนักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่ 3) ปากคลองตลาด โดยผู้ขับเคลื่อน Human of Flower Market by Arch SU และมนุษย์ปากคลองฯ 4) นางเลิ้ง โดยผู้ขับเคลื่อน Urban Studies lab และ Community Lab ชุมชนในย่านนางเลิ้ง 5) เยาวราช โดยผู้ขับเคลื่อน SATARANA (สาธารณะ) และชุมชนคนในพื้นที่ 6) หัวลำโพง โดยผู้ขับเคลื่อน RTUS-Bangkok (ริทัศน์บางกอก) 7) อารีย์ - ประดิพัทธ์ โดยผู้ขับเคลื่อน AriAround 8) บางโพ - เกียกกาย โดยผู้ขับเคลื่อน Bangpho Wood Street และ Creative Soul Studio 9) วงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู โดยผู้ขับเคลื่อน คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 10) เกษตรฯ - บางบัว โดยผู้ขับเคลื่อน คณะก่อการย่านเกษตร SC ASSET และมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) 11) พร้อมพงษ์ โดยผู้ขับเคลื่อน A49 & Friends 12) สยาม - ราชเทวี โดยผู้ขับเคลื่อน สถาบันอาศรมศิลป์ เครือข่ายนักพัฒนาเมือง และชุมชนบ้านครัว 13) บางกอกใหญ่ - วังเดิม โดยผู้ขับเคลื่อน บริษัท ครอส แอนด์ เฟรนด์ จำกัด และยังธน 14) พระโขนง - บางนา โดยผู้ขับเคลื่อน South Sukhumvit และ 15) บางมด โดยกลุ่มผู้ขับเคลื่อนย่านบางมด
นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้คือผู้สนับสนุนเทศกาลฯ ไม่ว่าจะเป็นเอพี ไทยแลนด์ (AP Thailand), เซ็นทรัลพัฒนา x เซ็นทรัลเวิลด์ (CPN x centralwOrld), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (KRUNGSRI), แอล.พี.เอ็น. (LPN), วัน แบงค็อก (One Bangkok), เอสซี แอสเสท (SC ASSET), เอปสัน (ประเทศไทย) (EPSON), ไปรษณีย์ไทย, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล (CENTRAL), ฮาตาริ (HATARI), กลุ่มสยามพิวรรธน์ (SIAM PIWAT), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) และซีแพค กรีน โซลูชั่น (CPAC) และพันธมิตรของ CEA ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration: BMA),บริษัท อรุณพลัส จำกัด, ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์, บจก. ทีวีบูรพา และ Media Partner ของ CEA
ในฐานะแพลตฟอร์มทางความคิดสร้างสรรค์และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสนใจ มาร่วมพัฒนาและขับเคลื่อน "กรุงเทพฯ" ให้เป็นเมืองในแบบที่เราต้องการใช้ชีวิตไปด้วยกัน ทั้งยังหวังว่าวลีคุ้นหู 'กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว' จะกลายเป็นจริงได้สักวันหนึ่งในอนาคต
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Website: www.bangkokdesignweek.com, Facebook/Instagram: bangkokdesignweek, Twitter: @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit