ม.ศรีปทุม ขานรับ Mega Project รัฐบาล เร่งผลิตแรงงานทักษะป้อนภาคอุตสาหกรรม

28 Feb 2024

ม.ศรีปทุม เผยประเทศไทยกำลังขาดกำลังคนสมรรถนะสูง 4 สาขาอาชีพ ได้แก่ วิศวกรระบบราง โลจิสติกส์และซัพพลายเชน การบินและคมนาคม การท่องเที่ยวและการบริการ หลังรัฐบาลเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ เชื่อมโยงระบบ โลจิสติกส์ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ของประเทศ รับเทรนด์เชื่อมระบบคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอนาคตอันใกล้ จะมีความต้องการกำลังคนสมรรถนะสูง สนับสนุนเมกะโปรเจกต์กว่า 200,000 อัตรา

ม.ศรีปทุม ขานรับ Mega Project รัฐบาล เร่งผลิตแรงงานทักษะป้อนภาคอุตสาหกรรม

ดัน 4 สาขาอาชีพ ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ระบบราง โลจิสติกส์และซัพพลายเชน การบินและคมนาคม การท่องเที่ยวและการบริการ เร่งปั้นบัณฑิตป้อนตลาดแรงงาน เป็นสายงานที่ไม่มีโอกาสตกงาน รับค่าตัวสูง หลังจบการศึกษามีบริษัทรอรับเข้าทำงานทันที หรือเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ และอาชีพอิสระที่หลากหลายสาขา

ดร. รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า จากการมุ่งหน้าขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่(เมกะโปรเจกต์ ) ของรัฐบาล ซึ่งครอบคลุม ทางบก ราง น้ำ อากาศ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศรวมถึงการเชื่อมโยงออกไปยังภูมิภาคตะวันออกและตะวันตก อาทิ โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มพัฒนาไปก่อนหน้านั้น โครงการพัฒนาระบบรางเชื่อมโยงการขนส่งสาธารณะภายในประเทศและเชื่อมโยงออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ และการผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค (Aviation Hub) โดยการปรับปรุงสนามบินหลักทั่วประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนสมรรถสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ด้านวิศวกรรมระบบราง ขนส่งและโลจิสติกส์ และการบิน เพิ่มสูงขึ้นราว 200,000 อัตรา ในอนาคตอันใกล้ จึงถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องเร่งผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งบัณฑิตที่จบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้งานและได้รับค่าตอบแทนสูง โดยการผลิตกำลังคนสมรรถสูง หรือแรงงานทักษะสูง ให้ทันและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด จะเป็นการเพิ่มประชากรรายได้สูงในประเทศ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยศรีปทุมเดินหน้าผลักดันให้ 4 คณะ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โลจิสติกส์และซัพพลายเชน การบินและคมนาคม การท่องเที่ยวและบริการ เร่งพัฒนาบัณฑิตให้มีทักษะการทำงานพร้อมทำงานออกสู่ตลาดงาน

วิศวกรระบบรางเป็นที่ต้องการกว่า 20,000 อัตรา

ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสายงานระบบรางมีความต้องการแรงงานมากขึ้น เนื่องจากในช่วง 10 ปี การเดินทางได้พัฒนาเปลี่ยนผ่านจากรถไฟระบบเดิมเป็นระบบใหม่ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้า สายงานในระบบราง มีความต้องการบุคลากรมากกว่า 20,000 อัตรา ในตำแหน่งงานเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการทำงานด้านระบบราง การก่อสร้าง ติดตั้งระบบราง อาณัติสัญญาณ สถานี การควบคุมรถ บริการสถานี ซ่อมบำรุง และงานที่ใช้หลักการจัดการวิศวกรรม แม้เทคโนโลยีระบบรางมาแรง แต่เป็นสาขาใหม่สำหรับสถาบันการศึกษาของประเทศ ยังไม่มีมหาวิทยาลัยในประเทศ ที่ครอบคลุมเทคโนโลยีการเรียนการสอนครบทุกด้าน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม จึงออกแบบการเรียนการสอน เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และสถาบันต่างประเทศเกี่ยวข้อง ให้นักศึกษาได้ออกไปเรียนรู้ประสบการณ์จริงในสนามจริง อาทิ การไปเรียนรู้ปฏิบัติงาน กับเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS MRT และ Airport rail link กับบริษัทเอกชนผู้รับเหมาระบบราง และส่งนักศึกษาไปเรียนเพิ่มเติมกับเจ้าของเทคโนโลยีที่ สถาบันระบบรางขนาดใหญ่ ณ เมืองหูหนาน ประเทศจีน เพื่อเก็บประสบการณ์จริงจากเจ้าของเทคโนโลยี โดยปัจจุบันทางคณะได้มีเปิดสอนสาขาระบบรางโดยตรง และยังเปิดเป็นวิชาเลือกให้นักศึกษาที่เรียน ในสาขาวิศวกรรม เครื่องกล ไฟฟ้า โยธา ได้เสริมวิชาชีพด้านระบบราง สำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม ไม่จำเป็นต้องจบสายวิทย์-คณิต ด้วยมหาวิทยาลัยมองว่า การเรียนรู้ไม่ควรจำกัดสาขา ทุกคนสามารถเรียนรู้ข้ามศาสตร์ได้

ธุรกิจโลจิสติกส์แนวโน้มเติบโต 200 เท่า ดันค่าตัวสูง

ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เปิดเผยว่า วิทยาลัยได้เตรียมพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับ Mega Project ของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มเติบโต 200 เท่า ส่งผลให้บุคลากรในสายอาชีพนี้มีค่าตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตร "นักจัดการโลจิสติกส์มืออาชีพด้านสินค้าเกษตรและอาหารที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain)" ให้มีทักษะด้านการจัดการโลจิสติกส์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อลดความสูญเสียของอาหาร (Food Loss) และลดขยะอาหาร (Food Wast) ที่เกิดจากการเก็บรักษา การขนส่งและการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อประเทศไทยเป็น "Aviation Hub" ความต้องการกำลังคนด้าน Cold Chain จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเกิดการขนส่งสินค้าประเภทอาหารและสินค้าเกษตรจำนวนมหาศาลออกไปยังประเทศ ปัจจุบันมหาวิทยาลัย เปิดสอน ตั้งแต่ระดับ ปริญญาตรี โท และเอก ในสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเปิดหลักสูตรระยะสั้น (Non Degree) เพื่อเปิดโอกาสให้คนทำงานแล้วกลับมา Reskill/ Upskill ในสายงานโลจิสติกส์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่อาชีพนักจัดซื้อจัดหา นักควบคุมคลังสินค้าห้องเย็น นักวางแผนและจัดเส้นทางการขนส่ง ตัวแทนออกของ นักจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น พร้อมทำงานกับบริษัทโลจิสติกส์นำเข้าส่งออกชั้นนำ มากกว่า 200 แห่ง นอกจากนี้หลักสูตรยังสามารถบูรณาการการเรียนร่วมกับคณะการเป็นเจ้าของธุรกิจเพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ได้ด้วย ในสายงานโลจิสติกส์นี้มีความต้องการบุคลากร ราว 120,000 คน ในระหว่างปี 2564-2568 จึงเป็นโอกาสของนักศึกษาที่เรียนทางด้านนี้ จะได้ทำงานระหว่างเรียน และจบแล้วได้งานทันที

สายงานด้านการบินได้งานทันทีหลังสำเร็จการศึกษา

พลอากาศเอกพิธพร กลิ่นเฟื่อง คณบดีวิทยาลัยการบินและคมนาคม เปิดเผยว่า บุคลากรในสายวิชาชีพการบินเป็นที่ต้องการของตลาดกำลังคนสมรรถสูง อย่างมากทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วยปัจจัยเร่ง2 ประการได้แก่ 1.เกิดความต้องการกำลังคนเร่งด่วนหลังจากลดช่วงโควิด การโดยสารและขนส่งเครื่องบินกับมาเดินเครื่องปกติทุกสายการบินมีแผนเพิ่มเที่ยวบิน โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อนุมัติให้ 8 สายการบินเพิ่มเที่ยวบิน 60 ลำตลอดปี 2567 2. รัฐบาลเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยเฉพาะแผนผลักดันเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางวิทยาลัยฯได้เตรียมความพร้อมสร้างกำลังคนใน 6 สาขาอาชีพ คือ 1.การจัดการความปลอดภัยการคมนาคม 2.การจัดการสนามบินและสินค้าทางอากาศ 3.นักบินพาณิชย์ จบภายใน 4 ปี ได้รับใบรับรองและใบอนุญาตนักบินจากสำนักงานการบินพลเรือน เป็นนักบินได้ทันที 4. พนักงานอำนวยการเครื่องบิน วางแผนเส้นทางบิน (Fight Planning) 5.ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ โดยทุกหลักสูตรการเรียน 4 ปี พร้อมทำงานทันที ซึ่งปัจจุบันทุกสาขาบัณฑิตที่จบได้งานทำทันทีที่จบ

ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร. อนุพงศ์ อวิรุทธา คณบดีวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์Covid-19 คลี่คลายลง หลายประเทศได้ตระเตรียมมาตรการและการกระตุ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรม อาทิ นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว การลดค่าธรรมเนียมหรือภาษีท่องเที่ยว รวมไปถึงการลงทุนจากภาครัฐ ในโครงการ Mega Project ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง ทางน้ำ แบบไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าเดินทางไปเยือนมากที่สุดในโลก ที่ผ่านได้ผลิตบุคลากรคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา กว่า 100 คน ในสายการบินชั้นนำ โรงแรมระดับสากล และสายการเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ระดับโลกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ และโครงการ Mega Project ของทางภาครัฐ และแผนผลักดันเป็น Aviation Hub ของภูมิภาค วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ ได้พัฒนาหลักสูตรเสริมสร้างและพัฒนาให้นักศึกษามีความรอบรู้ทางด้านในอุตสาหกรรม โดยเชื่อมโยงการผลิตบัณฑิตร่วมกับภาคอุตสาหกรรมทั้งสายการบิน โรงแรม และเรือสำราญ ให้นักศึกษาได้เรียนกับตัวจริงและฝึกงานผ่านประสบการณ์จริงทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้นักศึกษามีความพร้อมในการทำงานและได้ทำงานทันทีที่เรียนจบ ด้วยค่าตอบแทนแรกเริ่มในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป นอกจากนี้ยังได้เปิดหลักสูตรระยะสั้นที่ช่วยเพิ่มและพัฒนาทักษะที่สำคัญอื่น ๆ แก่ศิษย์เก่า และบุคลากรที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรให้กับประเทศและตอกย้ำความเป็นผู้นำในการผลิตบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ

ม.ศรีปทุม ขานรับ Mega Project รัฐบาล เร่งผลิตแรงงานทักษะป้อนภาคอุตสาหกรรม