ไทยพีบีเอส จับมือ ภาคีฯ เปิด 5 ฉากทัศน์งานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย เตรียมพร้อมร่วมกันค้นหานวัตกรรมขับเคลื่อน "สุขภาวะทางจิต"

23 Feb 2024

ไทยพีบีเอส และ The Active จับมือหลากหลายองค์กรจากภาครัฐ และเอกชน เปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจ "ระบบสุขภาวะทางจิต"  ร่วมกันพัฒนากลไก ค้นหานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพใจได้มากขึ้น

ไทยพีบีเอส จับมือ ภาคีฯ เปิด 5 ฉากทัศน์งานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย เตรียมพร้อมร่วมกันค้นหานวัตกรรมขับเคลื่อน "สุขภาวะทางจิต"

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส และ The Active ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมี รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. , นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต, ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. , ดร.กุลิสรา บุตรพุฒ นักกลยุทธ์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), และวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส Future Tales Lab by MQDC ร่วมกันจัด Public Forum เปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 เพื่อฉาย 5 ฉากทัศน์จากงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย สร้างความเข้าใจ และร่วมกันค้นหานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อน "สุขภาวะทางจิต"

โดย 5 ฉากทัศน์จากงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย เป็นการคาดการณ์ถึงอนาคตของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่

  1. ฉากทัศน์ "การระเบิดของความกลัว" (Terror outburst) สภาพสังคมที่มีปัญหาสะสมและถูกละเลยมานาน วางผลให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เจ็บปวด บอบช้ำ สะสมทับซ้อนกันหลายชั้น และก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่
  2. ฉากทัศน์ "วิกฤติที่แฝงด้วยโอกาส" (Opportunity in adversity) สถานการณ์ที่ผันผวนรุนแรงต่อเนื่องของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกังวล และพยายามเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง
  3. ฉากทัศน์ "มวลชนผู้โดดเดี่ยว" (Packs of lone wolves) ผู้คนมีความสะดวกสบายในทุกด้าน แต่กลับมามีความรู้สึกเหงา เครียด และกดดันมากขึ้น การใช้ชีวิตในเมืองที่ทันสมัย บีบบังคับให้เผชิญกับการแข่งขันที่สูงและวิถีชีวิตดิจิทัลที่โดดเดี่ยว
  4. ฉากทัศน์ "สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน" (Decentralized mental well-being) ผู้คนรู้สึกสุขใจ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นผลจากการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตถูกจัดสรรและออกแบบให้เข้ากับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
  5. ฉากทัศน์ "จุดหมายแห่งความสุข" (Land of smiling minds) ประเทศไทย เป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพจิต และเป็นจุดมุ่งหมายการใช้ชีวิตของผู้คนจากทั่วโลก ทุกภาคส่วนวางเรื่องสุขภาพจิตไว้ในทุกองค์ประกอบ ประชาชน รู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจ

ทั้งนี้ ทั้ง 5 ฉากทัศน์ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการขับเคลื่อนต่าง ๆ ว่าจะเป็นไปในทางบวก หรือลบ ซึ่งสามารถควบคุมปัจจัยขับเคลื่อนเหล่านี้ได้  โดยเป้าหมายในการร่วมกันขับเคลื่อน "สุขภาวะทางจิต" นี้ เพื่อที่จะร่วมกันค้นหานวัตกรรม ขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพใจได้มากขึ้น เพื่อกำหนดอนาคตสุขภาพจิตคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า  ว่าจะเป็น "ระเบิดเวลาของความหวาดกลัว"  "จุดหมายแห่งความสุข"  หรือฉากทัศน์อื่น ๆ

รศ.วิลาสินี ผอ. ส.ส.ท. กล่าวถึงบทบาทของสื่อกับการส่งเสริมด้านสุขภาพจิต ควรเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนจริง ๆ และสุขภาวะทางจิตเป็นปัจจัยในการกำหนดความสุขของผู้คน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทับซ้อนหลายมิติ เช่น ศักยภาพของคน ๆ หนึ่ง จะปรับตัวให้มีความสุขได้ขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน เศรษฐกิจและสังคม และท้ายที่สุดคือระดับนโยบาย สิ่งที่ไทยพีบีเอส พยายามสื่อสารข้อความถึงประชาชน จึงไม่ใช่แค่เรื่องการเป็นโรค แต่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้ด้วย

"Policy watch เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยพีบีเอสให้ความรู้ ทำความเข้าใจว่าสุขภาพจิตคืออะไร เกี่ยวข้องกับใคร เพื่อให้คนทะลุออกจากกรอบเดิม ๆ โดยเฉพาะการตีตรา สิ่งที่เราจะทำงานร่วมกับภาคีฯ คือทำให้เห็นว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน ผ่านกิจกรรม 'HACK ใจ' ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการ ผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นส่งไปถึงรัฐบาล" รศ.วิลาสินี กล่าว

สำหรับ โครงการ 'HACK ใจ เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน' เป็น Hackathon ด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย มีเป้าหมายของการจัดกิจกรรม เพื่อรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการ เจตจำนง หรือนโยบายด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ก.พ. - 2 มี.ค. 67 ที่ไทยพีบีเอส ในรูปแบบของกิจกรรม Hackathon ระดมสมองหาไอเดียต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ก่อนนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย 8 กลุ่ม ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตแตกต่างกันไป ประกอบด้วย นวัตกรรม, เศรษฐกิจดิจิทัล, ระบบยุติธรรม, ผู้บังคับใช้กฎหมาย, การสื่อสาร, การออกแบบเมือง, ธุรกิจประกัน และ องค์กรแห่งความสุข โดยสามารถติดตามรับชมกิจกรรมนี้ได้ ผ่าน Facebook และ YouTube : The Active

HTML::image(