เริ่มแล้ว! "HACK ใจ" แฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย

01 Mar 2024

ไทยพีบีเอส ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม HACK ใจ "เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน" แฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย ระดมสมองหาไอเดียตอบ 8 โจทย์ ฮีลใจไปต่อได้ถ้าใจไม่ป่วย

เริ่มแล้ว! "HACK ใจ" แฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 67 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP Thailand) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรม HACK ใจ "เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน" กิจกรรมแฮกกาธอน ระดมสมองหาไอเดีย สร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพใจ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 29 ก.พ. - 2 มี.ค. 67 ที่ไทยพีบีเอส ก่อนนำเสนอผลงาน ด้วยโจทย์ที่ท้าทาย 8 โจทย์ จาก 8 กลุ่มผู้เข้าร่วมจากทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท กล่าวว่า ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาวะทางจิต และสุขภาพใจ เราไม่อยากทำหน้าที่เพียงรายงานข่าว เมื่อเกิดเหตุเศร้าสลดใจในสังคมเท่านั้น แต่เราอยากมีส่วนช่วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม เป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ให้สังคมมีความแข็งแรง ดังนั้น การจัดกิจกรรมวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการสร้างความเข้มแข็งสร้างพลังใจ ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น เชื่อมันว่า การระดมสมอง ของเหล่านักแฮกจากหลากหลายวงการ ในกิจกรรมครั้งนี้  จะสามารถสร้างนวัตกรรมที่จะไปตอบโจทย์สุขภาวะทางจิตได้  เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  เรื่องสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องของกรมสุขภาพจิตเพียงหน่วยงานเดียว จึงอยากชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคม ช่วยกันดูแลสุขภาพใจก่อนที่จะป่วย การได้มามีส่วนร่วมในกิจกรรมแฮกใจครั้งนี้ ถือเป็นความหวัง เป็นมิติใหม่ ในการทำงานด้านสุขภาพจิตที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยตรง แต่มีนักแฮกจากมากมายหลากหลายอาชีพ ซึ่งน่าจะเกิดนวัตกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพใจให้สังคมไปต่อได้ด้วยกัน

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรร่วมจัด รู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้เห็นคนทุกสาขาอาชีพมาร่วมมือกัน ระบบสุขภาพไม่ใช่เรื่องของมดหมอหยูกยา หรือการรักษาอย่าเดียว แต่ครอบคลุมสุขภาพจิต สุขภาพสังคม สุขภาพทางปัญญา ซึ่งระบบสุขภาพโดยรวมต้องขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกัน ที่ผ่านมาได้พัฒนาประเด็นสุขภาพจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการที่เดินหน้าต่อไป เป้าหมายในวันนี้ ไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้กำลังมีปัญหาสุขภาพจิต แต่ทุกคนในสังคมที่ควรได้รับการดูแลไปด้วยกัน

นายสุริยนต์ ธัญญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สภาพัฒน์ฯ ร่วมมือกับ UNDP ริเริ่มให้เกิด "Thailand Policy Lab ซึ่งได้ถอดบทเรียนนโยบายสาธารณะ ซึ่งสภาพัฒน์ฯ เป็นแกนกลางในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การได้เห็นความร่วมมือครั้งนี้ ทำให้เกิดความหวังสำหรับทางออกที่เป็นไปได้ ซึ่งทุกคนกำลังมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะปฏิรูปนโยบายสาธารณะในยุคต่อไป

กิจกรรม HACK ใจ จัดขึ้นเพื่อรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการ เจตจำนง หรือนโยบายด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต โดยแบ่งเป็น  8 โจทย์ คือ 1. นวัตกรรม (Innovation)  2. เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) 3. ระบบยุติธรรม (Justice system)  4. ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Law enforcer) 5. การสื่อสาร (Communication) 6. การออกแบบเมือง (Property & Urban) 7. ธุรกิจประกัน (Insurance)  8. องค์กรแห่งความสุข (Food)

กิจกรรม HACK ใจ "เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน" จะจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 29 ก.พ. - 2 มี.ค. 67 โดยจะมีการสรุป และนำเสนอผลงาน HACK ใจ จากทั้ง 8 โจทย์ ในวันเสาร์ที่ 2 มี.ค. 67  โดยสามารถติดตามรับชมได้ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทาง Facebook และ YouTube : The Active

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

? Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram

? Website : www.thaipbs.or.th

? Application : Thai PBS

 

เริ่มแล้ว! "HACK ใจ" แฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย