TSE พื้นฐานแน่น! จ่ายปันผลปี 66 เพิ่มอีก 0.05 บ./หุ้น ให้ Yield ทั้งปีสูงลิ่ว 8% พร้อมลุยประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ ตั้งเป้าราว 100 - 150 MW เดินหน้ารุก Private PPA - M&Aและโรงไฟฟ้าขยะชุมชน บอร์ดไฟเขียว จับมือพันธมิตร รุกธุรกิจ Wellness สร้าง New S-Curve
บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) พื้นฐานแกร่ง ประกาศจ่ายปันผลเป็นเงินสดงวดปี 66 เพิ่มอีก 0.05 บาทต่อหุ้น หนุนอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลรวมทั้งปี (Dividend Yield) สูงถึง 8% ฟากซีอีโอ "ดร.แคทลีน มาลีนนท์" ระบุแผนธุรกิจปี 67 พร้อมเดินหน้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งรอบที่ 2 และ 3 ตั้งเป้าหมาย 100 - 150 เมกะวัตต์ พร้อมจับมือพันธมิตร รุกธุรกิจ Wellness เป็นธงหลัก เพื่อสร้าง New S-Curve หนุนรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดกว่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้การจ่ายเงินปันผลสำหรับการดำเนินงานงวดปี 2566 อยู่ที่อัตราหุ้นละ 0.14 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูงถึง 8% ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2566 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท ดังนั้นจึงมีเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท รวมเป็นหุ้นละ 0.14 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) เป็นวันที่ 13 มีนาคม 2567 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นี้
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,898 ล้านบาท ได้แก่ รายได้จากการดำเนินงานต่อเนื่อง 1,275 ล้านบาท ลดลง 50 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 จากปีก่อน ที่ 1,325 ล้านบาท และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 623 ล้านบาท ลดลง 25 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 จากปีก่อน ที่ 648 ล้านบาท เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าบางโครงการสิ้นสุดสัญญารายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ประกอบกับการประกาศปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงส่งผลให้รายได้รวมปี 2566 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน
กลุ่มบริษัทฯ มีผลขาดทุนรวม 2,981 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการจำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโอนิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ จึงต้องแยกแสดงผลประกอบการของโครงการดังกล่าวออกจากส่วนการดำเนินงานปกติ โดยแสดงเป็นรายการขาดทุนจากการดำเนินงานที่ยกเลิกจำนวน 1,946 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการดำเนินงานต่อเนื่องจำนวน 1,035 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการบันทึกรายการพิเศษ (one time transaction) ได้แก่ ขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สงสัยจะสูญ) จำนวน 1,036 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดและอัตราส่วนทางการเงินตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ (non-cash item), ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวน 343 ล้านบาท และขาดทุนจากการจำหน่ายอุปกรณ์ในระหว่างงวดจำนวน 57 ล้านบาท ทั้งนี้หากพิจารณากำไรสำหรับปี โดยไม่รวมรายการพิเศษข้างต้น กลุ่มบริษัทฯ จะมีผลกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 401 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 28 เนื่องมาจากการเริ่มทยอยสิ้นสุดสัญญารายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ ณ สิ้นปี 2566 กลุ่มบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เท่ากับ 1.32 เท่า ลดลงจากปีก่อนที่ 2.20 เท่า เนื่องมาจากการนำเงินที่ได้รับจากการขายโครงการโอนิโกเบที่ประเทศญี่ปุ่นไปชำระหนี้ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีความสามารถในการลงทุนเพิ่มและพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ เตรียมเข้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ภายหลังจากที่ปี 2566 บริษัทฯได้ชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์เสนอขาย ขณะที่การประมูลรอบใหม่นี้ตั้งเป้าหมายที่ 100 - 150 เมกะวัตต์
รวมทั้งเดินหน้ารุกธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) หรือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนผืนน้ำ (Solar Floating) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร และมีแผนจะทำ M&A (Mergers and Acquisitions) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งกำลังการผลิต และมีแผนจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการใหม่ สายธุรกิจ Health Care กับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำธุรกิจ Wellness ซึ่งจัดอยู่ในเมกะเทรนด์และมีแนวโน้มการเติบโตสูง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนในสังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อสร้าง New S-Curve และเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ เริ่มตั้งแต่การให้กำเนิดบุตร การรักษา และการป้องกัน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดีแบบองค์รวม โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกนี้
สำหรับงบลงทุนในปี 2567 บริษัทฯ มีเงินทุนจากการจำหน่ายโครงการโอนิโกเบ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินในประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 3,357 ล้านบาท และหากต้องการเม็ดเงินลงทุนที่มากขึ้น บริษัทฯ มั่นใจว่าพันธมิตรทางธุรกิจและสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนด้านการลงทุน เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit