สปสช. ขอความร่วมมือ รพ.รับส่งต่อใน กทม. ดูแลผู้ป่วยช่วงเปลี่ยนผ่าน "กองทุนผู้ป่วยนอก โมเดล 5"

01 Mar 2024

1 มี.ค. นี้ เริ่มการบริหารจัดการ "กองทุนผู้ป่วยนอก โมเดล 5" ดูแลผู้ป่วยบัตรทองในพื้นที่ กทม. ด้าน สปสช. เร่งทำความเข้าใจ ประชุมชี้แจง รพ.รับสงต่อ พร้อมขอความร่วมมือดูแลผู้ป่วยในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบ พร้อมช่วยแจ้งผู้ป่วยให้ติดต่อหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิ เพื่อประเมินอาการในการเข้ารับบริการครั้งต่อไป

สปสช. ขอความร่วมมือ รพ.รับส่งต่อใน กทม. ดูแลผู้ป่วยช่วงเปลี่ยนผ่าน "กองทุนผู้ป่วยนอก โมเดล 5"

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 - สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดประชุมชี้แจง "การดำเนินการบริหารกองทุนผู้ป่วยนอกกรณีโมเดล 5" ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ตามข้อเสนอของสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2567 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีผู้ป่วยนอก การส่งต่อและการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมเป็นผู้ชี้แจง ซึ่งมีตัวแทนหน่วยบริการทั้งโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในพื้นที่ กทม. เข้าร่วมกว่า 250 คน อาทิ รพ.ราชวิถี รพ.ศิริราช รพ.วชิระพยาบาล และสถาบันโรคผิวหนัง เป็นต้น

นพ.สนั่น กล่าวว่า ขอย้ำว่ากรณีการปรับการบริหารกองทุนผู้ป่วยนอก โมเดล 5 ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่รวมถึงพื้นที่จังหวัดอื่น ด้วยผลกระทบที่เกิดกับหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ กทม. เบื้องต้น สปสช. จึงได้ทำการปรับการบริหารจัดการตามข้อเสนอฯ ที่เป็นรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) ส่งผลให้หน่วยบริการที่รับส่งต่อ (รพ.รับส่งต่อ) ผู้ป่วยนอกจากหน่วยบริการปฐมภูมิ จะต้องทำการเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยบริการปฐมภูมิที่ทำการส่งต่อผู้ป่วยแทน จากเดิมที่เป็นการเรียกเก็บตามรายการบริการ จาก สปสช.

อย่างไรก็ดี ด้วยเป็นการปรับการบริหารจัดการอย่างกะทันหัน และจะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม นี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย สปสช. จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลรับส่งต่อในการดูแลผู้ป่วยส่งต่อที่มีนัดหมายรับบริการก่อน พร้อมขอแจ้งผู้ป่วยให้ติดต่อหน่วยบริการปฐมภูมิที่ได้ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง เพื่อประเมินอาการในการรับบริการครั้งต่อไป โดยในรายที่หน่วยบริการปฐมภูมิประเมินแล้วว่า มีศักยภาพที่จะให้การรักษาได้ก็จะได้ก็จะได้รับการดูแลต่อเนื่องที่หน่วยบริการปฐมภูมินั้น แต่ในรายเกินศักยภาพการบริการก็มีการออกใบส่งตัวผู้ป่วย เพื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อเนื่องต่อไป

ส่วนกรณีการให้บริการผู้ป่วยนอกที่ไม่มีใบส่งตัวนั้น นพ.สนั่น กล่าวว่า จากแนวทางการเบิกจ่ายของ สปสช. นั้น โรงพยาบาลที่ให้บริการจะเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ใน 2 กรณี คือ กรณีอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยนอกข้ามจังหวัด (OP AE) และบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) เท่านั้น

"ขณะนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของการบริหารจัดการ เบื้องต้นวันที่ 1 มี.ค. ไม่ได้ห้ามโรงพยาบาลให้บริการผู้ป่วยที่มีนัดส่งต่อ สามารถให้บริการตามสมควรแก่เหตุ ทั้งกรณี OP AE หรือ OP Anywhere และขอให้ผู้ป่วยกลับไปประเมินอาการที่คลินิกต้นสังกัดที่ขึ้นทะเบียนสิทธิไว้ ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นทางการแพทย์คลินิกก็จะส่งต่อกลับมารักษาที่โรงพยาบาล" นพ.สนั่น กล่าว

ด้าน ทพญ.น้ำเพชร กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สปสช. ได้เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลการปรับระบบโมเดล 5 ให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. รับทราบ โดยระบบจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค. นี้ที่ค่อนข้างกระชั้นชิด แต่มีความจำเป็น และจะนำข้อมูลต่างๆ ที่ผู้แทนโรงพยาบาลได้แสดงความเห็นในวันนี้ ไปพัฒนาระบบรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายการยา OP Anywhere เป็นต้น และขอย้ำเพิ่มเติมว่า หน่วยบริการที่ออกใบส่งตัวผู้ป่วยนอกได้นั้นต้องเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนสิทธิไว้เท่านั้น เนื่องจากจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วย ขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องเรียกเก็บค่ารักษากับหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น เนื่องจากเป็นหน่วยบริการที่รับงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนสิทธิกับหน่วยบริการ