'เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ AAI' ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของไทย เผยผลงานครึ่งปีหลัง ปี 66 ดีขึ้นตามคาด ทำให้รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 5,439 ล้านบาท โดยยังคงมาจากอาหารสัตว์เลี้ยงสัดส่วน 79% แม้ว่าปรับตัวลดลงทั้งจาก OEM และแบรนด์ตัวเอง ส่วนอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มองปี 67 มั่นใจ ตั้งเป้ารายได้โต 19% ทุ่มงบ 430 ล้านบาท กลับมาเดินหน้าลุย พร้อมลงทุนคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 และปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้าต่อเนื่อง ด้านบอร์ดใจป้ำปันผลครึ่งปีหลังอีก 0.18 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 17 พ.ค. นี้ รวมทั้งปีจ่ายปันผล 0.23 บาทต่อหุ้น
นายเอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้รับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) ชั้นนำของประเทศ และเจ้าของแบรนด์ "monchou" "Hajiko" และ "Pro" ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับแมวและสุนัข เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6,500 ล้านบาท หรือเติบโต 19% จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 5,439 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 24% มาอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 4,400 ล้านบาท และรักษาระดับกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1,100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ลดลงมาอยู่ที่ 17% จาก ที่อยู่ในระดับ 20% ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
บริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับ 13-15% โดยในปีที่ผ่านมาอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับทั้งปีอยู่ที่ 13.2% จากสัดส่วนรายได้อาหารสัตว์เลี้ยงที่จะเพิ่มขึ้น และมั่นใจว่าจะสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการดำเนินงาน ขณะที่ต้นทุนของเงินทุนยังอยู่ในระดับต่ำและบริษัทฯ ยังมีเงินสดและสภาพคล่องเพียงพอต่อการลงทุนตามแผนงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 ภายในปี 2567 หลังจากที่ได้ชะลอโครงการไปเมื่อปี 2566 ซึ่งคาดว่า ปี 2567 จะใช้งบลงทุนทั้งหมดราว 430 ล้านบาท
"การเติบโตกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงจะมาจากทั้งกลุ่มรับจ้างการผลิตและแบรนด์ของบริษัทเอง เพราะมองว่าอุปสงค์ของกลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วโลกยังโตต่อเนื่องแม้จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้ออยู่บ้าง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตแบบเปียกที่ 56,000 ตันต่อปี และน่าจะเพียงพอต่อการเติบโตไปอีกถึง 2 ปี (2567-2568) ทั้งจากการขยายตลาดลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่ อีกทั้งคาดว่าจะมีการเติบโตจากการขายอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ดเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มแบรนด์ของเรา และรับจ้างผลิต โดยเรามีแผนจะว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน นิวทริชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ผลิต" นายเอกราช กล่าว
โดยในส่วนของแบรนด์ บริษัทยังคงเน้นเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มยอดขายในอนาคต มุ่งใช้แผนการตลาดที่จะสามารถดึงดูดยอดขายได้ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นตามความนิยมของตลาด ตลอดจนปรับกลยุทธ์ในการขายแบรนด์มองชูของไท่หยาที่ประเทศจีน โดยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ให้ครอบคลุมช่องทางใหม่ ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น ที่สำคัญคือการหาตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นที่มีศักยภาพมาทำการตลาดออฟไลน์ โดยมุ่งให้ยอดขายมองชูที่จีนเติบโตในทิศทางเดียวกับที่ไทยให้ได้
ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,439 ล้านบาท ลดลง 23.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7,124 ล้านบาท แต่ถือเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยปริมาณการขายอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 79 ของยอดขายรวม ลดลงมาอยู่ที่ 34,827 ตัน จาก 44,210 ตัน ในปีก่อนหน้า เนื่องจากคำสั่งซื้อชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ต้องปรับปริมาณสต๊อกให้เหมาะสมกับระยะเวลารอคอยสินค้า (Lead Time) ที่สั้นลงหลังระบบโลจิสติกส์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ยอดขายแบรนด์ของบริษัทไม่เพิ่มขึ้นเพราะการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะในตลาดภายในประเทศ
ยอดขายอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกมีปริมาณการขาย 6,646 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% และรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากทูน่าที่ตลาดส่งออกหลักเป็นตะวันออกกลางและซาอุดีอาระเบีย โดยมีราคาทูน่าเป็นปัจจัยบวก ท่ามกลางข้อจำกัดจากสถานการณ์ความไม่สงบในเขตทะเลแดงที่กระทบระยะเวลาและค่าขนส่ง แม้ว่าอาจหนุนให้มีการกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้นได้บ้าง ขณะที่กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานที่เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่ายังมีสัดส่วนอยู่เพียง 3%
อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 13.2% ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 19.9% เพราะต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นจากสัดส่วนยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าแรงและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่มีสัดส่วนเทียบยอดขายสูงขึ้นเนื่องจากมีอัตราการใช้กำลังการผลิตค่อนข้างต่ำ ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 383 ล้านบาท ลดลง 55.4% เมื่อเทียบ 859 ล้านบาทในปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 7% ซึ่งลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/2566 มีรายได้ 1,494 ล้านบาท ลดลง 12.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,701 ล้านบาท แต่ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 1,359 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นลดลงมาอยู่ที่ 14.7% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 166 ล้านบาท ลดลง 44.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 300 ล้านบาท แต่มีระดับมากกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ทำได้ 118 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับปีที่ 0.23 บาทต่อหุ้น ซึ่งจ่ายระหว่างกาลไปแล้ว 0.05 บาทต่อหุ้น และจะจ่ายเพิ่ม อีก 0.18 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลวันที่ 3 พ.ค. 2567 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 17 พ.ค. นี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit