'กลุ่มบริษัทศรีตรัง' ประกาศความพร้อมเปิดตัว "ยางมีพิกัด (GPS)" สร้างมิติใหม่สู่ความยั่งยืนรู้แหล่งที่มายาง ตอบรับทุกมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceable) ตลาดทั่วโลก

07 Mar 2024

'กลุ่มบริษัทศรีตรัง' ประกาศความพร้อมเปิดตัว "ยางมีพิกัด (GPS)" สร้างมิติใหม่สู่ความยั่งยืนรู้แหล่งที่มายาง ตอบรับทุกมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceable) ตลาดทั่วโลก พร้อมรับมาตรการ EUDR

'กลุ่มบริษัทศรีตรัง' ประกาศความพร้อมเปิดตัว "ยางมีพิกัด (GPS)" สร้างมิติใหม่สู่ความยั่งยืนรู้แหล่งที่มายาง ตอบรับทุกมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceable) ตลาดทั่วโลก

"กลุ่มบริษัทศรีตรัง" เปิดตัว "ยางมีพิกัด" หรือ "ยาง GPS" สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางได้ (Traceability) 100% ประกาศความพร้อมตอบรับมาตรการตรวจสอบจากทั่วโลก รวมถึงทวีปยุโรปที่เตรียมบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ภายในสิ้นปีนี้ ถือเป็นการสร้างมิติใหม่สู่ความยั่งยืนและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมยางพาราไทย ขณะที่ผู้บริหารมองภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติปี 2567 จะเติบโตจากดีมานด์ฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัว วางเป้าหมายปริมาณขายยางรวมในปีนี้ 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15%

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นำทัพเปิดตัว "ยางมีพิกัด" หรือ "ยาง GPS" ร่วมกับผู้บริหารและพนักงานกลุ่มบริษัทศรีตรังทั้ง 26 สาขาในประเทศไทย และบริษัทย่อย 2 แห่งในอินโดนีเซีย ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมอัพเดตสถานการณ์กฎระเบียบ EUDR พร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับยางมีพิกัด (GPS) จะส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมยางพาราไทยและกฎระเบียบ EUDR ให้แก่เกษตรกรและผู้ค้ายางพาราได้ร่วมรับฟังผ่านช่องทางออนไลน์และภายในโรงงาน เพื่อมุ่งสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยในทุกภาคส่วน

นายวีรสิทธิ์ เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทศรีตรังได้เปิดตัว "ยางมีพิกัด (GPS)" เพื่อแสดงความพร้อมตอบรับมาตรการหรือกฎหมายจากทั่วโลกที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางธรรมชาติที่จำหน่าย และแสดงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนเป็นภูมิภาคแรกภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางธรรมชาติไปยุโรป ต้องผ่านการตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกป่าสงวน

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทศรีตรังพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยในระดับสากล ให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาของยางได้ 100% เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้อยู่เหนือมาตรฐานประเทศอื่นๆ และเป็นโอกาสที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง สร้างความได้เปรียบทางการค้าของไทย ไปจนถึงโอกาสในด้านราคายางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีโอกาสและความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ จากหน่วยงานการยางแห่งประเทศไทย ที่ช่วยดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราไทยมาโดยตลอด ดังนั้น "ยางมีพิกัด (GPS)" จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจที่ช่วยผลักดันทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ซึ่ง 'ยางมีพิกัด' จะไม่ได้แค่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตลาดในยุโรปเท่านั้น แต่ 'ยางมีพิกัด' จะสามารถตอบโจทย์ในตลาดทั่วโลกได้

นางสาวปภาวี ศรีสุทธิพงศ์ Business Development and Partnership Manager บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ยางมีพิกัด (GPS)" คือยางธรรมชาติ เช่น ยางถ้อนถ้วย, น้ำยางสด, ยางแผ่น เป็นต้น ที่สามารถระบุหรือตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางได้ว่ามาจากพื้นที่สวนไหน ของใคร ซึ่งต้องเป็นสวนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเป้าหมายจำนวนเกษตรกรและผู้ค้ายางที่จะทำยางมีพิกัดกับศรีตรัง จำนวน 100,000 ราย ภายในสิ้นปี 2567 และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ภายในสิ้นปี 2568

ทั้งนี้ "ยางมีพิกัด (GPS)" จะช่วยส่งเสริมให้ Sri Trang Ecosystem มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการตอกย้ำถึงกระบวนการทำงานของศรีตรังที่มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ของกลุ่มบริษัทศรีตรัง อาทิ แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends , แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends Station , บริการ Super Driver และระบบ Smart factory ที่ช่วยทรานส์ฟอร์มกระบวนการรับซื้อยางสู่ดิจิทัล เชื่อมโยงผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ ได้แก่ ชาวสวนยาง, ผู้ค้ายาง, ผู้ขนส่งยาง, ชุมชน, คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาง ซึ่งจะสร้างมิติใหม่แก่อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยางพาราในตลาดโลก

นายวีรสิทธิ์ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากดีมานด์ยางในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัว จากการที่ลูกค้าได้ระบายสินค้าคงคลังจนกลับมาอยู่ในระดับปกติ ประกอบกับความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีผลให้ฝนตกลดลงและกระทบต่อผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด นอกจากนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อภาพรวมดีมานด์อุตสาหกรรมยางธรรมชาติ เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก ขณะที่สถานการณ์ราคายางธรรมชาติเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยยาง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนมกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 152.7 - 155.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากจากราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ที่ 145.4 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นราว 5-7%

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางเป้าหมายปริมาณการขายยางทุกประเภทในปี 2567 รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายรวม 1.3 ล้านตัน โดยมุ่งเน้นการบริหารสต๊อกยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีระบบ Automation เข้ามาใช้ภายในโรงงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมุ่งขยายธุรกิจให้เติบโต มีการขยายกำลังการผลิตในไทย และเปิดศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรี่โคสต์ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตยางพารา พร้อมกับการเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แบบรอบด้านทุกส่วนสำหรับรองรับ EUDR หรือกฎมาตรการอื่นๆ ของตลาดทั่วโลก ทั้งนี้การดำเนินการด้านความยั่งยืนถือเป็น DNA ของเรา อีกทั้ง บริษัทฯ เป็น Growth Company ที่ไม่หยุดพัฒนาและพร้อมปรับตัวเสมอ เพื่อครองความเป็น "ผู้นำองค์กรแห่งยางสีเขียวแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน" ตลอดไป

'กลุ่มบริษัทศรีตรัง' ประกาศความพร้อมเปิดตัว "ยางมีพิกัด (GPS)" สร้างมิติใหม่สู่ความยั่งยืนรู้แหล่งที่มายาง ตอบรับทุกมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceable) ตลาดทั่วโลก
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit