สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จังหวัดน่าน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่าย เปิดเวทีร่วมระดมสมองหา "แนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดน่าน" ด้วยบริบท การปรับตัว และพลังของชุมชนพร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในระดับจังหวัด จากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว. ผ่านกองทุน ววน. พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ "ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดน่าน ด้วยบริบท การปรับตัวและพลังของชุมชน" เพื่อนำเสนอ องค์ความรู้และตัวแบบที่ได้สังเคราะห์จากการวิจัยมาร่วมสร้างต้นแบบการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ทั้งระบบของจังหวัดน่าน และการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำจังหวัดแบบบูรณาการ
รองศาสตราจารย์ ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ สกสว. และ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย วช. กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งทำให้สถานการณ์น้ำในแต่ละปีมีความผันผวนอย่างรุนแรงทั้งในเชิงปริมาณและเชิงพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน การสูญเสียรายได้ในภาคเกษตรกรรม การสูญเสียงบประมาณไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการชดเชยเยียวยาในพื้นที่น้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งล้วนแต่เป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ดันนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการศึกษาระบบหรือรูปแบบ รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ที่ต่อเนื่อง และโครงการวิจัย "การวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น-จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดตัวอย่างเพื่อการประหยัดน้ำ ใช้น้ำคุ้มค่าและใช้วิทยาการพร้อมการขับเคลื่อน" โดย นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัย และ โครงการวิจัย การพัฒนาระบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการวางแผนและตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล และคณะ ที่นำเสนอนี้จะเป็นชุดความรู้ และ กลไกการจัดการน้ำ ให้กับชุมชนพื้นที่ได้นำไปใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ไทยประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วงจากปรากฎการณ์เอลนีโญ
ด้านนายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้สังเคราะห์องค์ความรู้จากการวิจัย เพื่อใช้ทำงานในพื้นที่ต้นแบบ (Model) 3 จังหวัดขอนแก่น กำแพงเพชร และ น่าน รวม 150 ตำบล ก่อนขยายผลเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัด ประกอบด้วย 10 เรื่องสำคัญ คือ 1. การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มาจากการมีส่วนร่วมและการรวมกลุ่มของคนในชุมชนท้องถิ่น 2. การวิเคราะห์ศักยภาพของคณะกรรมการองค์กรผู้ใช้น้ำในการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทั้งในเรื่องของการเก็บข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การใช้เทคโนโลยีเพื่อการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการกลุ่ม 3. การใช้ระบบฐานข้อมูลชุมชนเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการวางแผนการจัดการน้ำ ข้อมูลสมดุลน้ำชุมชน ตลอดจนข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 4. กระบวนการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม โดยทุกขั้นตอนต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายสายน้ำ 5. การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำชุมชน ที่สอดคล้องกับระบบภูมินิเวศของลุ่มน้ำ ต้นทุนน้ำของพื้นที่ รวมทั้งความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์น้ำ 6. การกำหนดระเบียบ มาตรการของชุมชน ในการบริหารจัดการน้ำที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในการปฏิบัติการของคนในชุมชนท้องถิ่น 7. การจัดการด้านการเงินของกลุ่ม ในรูปแบบกองทุนเพื่อจัดการน้ำชุมชน โดยมีการสร้างรายได้ของกลุ่ม เช่น การเก็บเงินจากสมาชิกเป็นค่าบริหารจัดการน้ำชุมชน การขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน 8. กลไกการติดตามและประเมินผล การบริหารจัดการน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม มีแผนในการติดตามหนุนเสริมกิจกรรมกลุ่มและมีองค์ประกอบของทีมติดตามที่มีความหลากหลาย 9. กลไกการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายข้ามพื้นที่ การเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับ อปท. และ องค์กรผู้ใช้น้ำในการจัดทำแผนน้ำตำบลและบรรจุในแผนพัฒนาตำบลฯ รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกพื้นที่ 10. การส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนต่อการบริหารจัดการน้ำ มีกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ การส่งเสริมความรู้และสื่อสารข้อมูลที่เท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ของสภาวะอากาศหรือกลไกการผลิตและการตลาด
สำหรับเวทีสาธารณะ ภาคีเครือข่าย "แนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดน่าน" ด้วยบริบท การปรับตัว และพลังของชุมชน จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับจังหวัดน่าน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่ายเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในระดับจังหวัด 2 โครงการโดยการสนับสนุนของ สกสว. ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) คือ 1. โครงการ การวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น-จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดตัวอย่างเพื่อการประหยัดน้ำ ใช้น้ำคุ้มค่าและใช้วิทยาการพร้อมการขับเคลื่อน ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม 2. โครงการการพัฒนาระบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการวางแผนและตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน หน่วย บพท.
โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิเชษฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ สกสว. และ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย วช. นายแพทย์ อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะนักวิจัย และภาคีเครือข่าย ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรด้วยระบบ ฝายแกนดินซีเมนต์ และ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (solar pump) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ "ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดน่าน ด้วยบริบท การปรับตัวและพลังของชุมชน" เพื่อนำเสนอ องค์ความรู้และตัวแบบ (Model) ที่ได้สังเคราะห์จากการวิจัยของโครงการวิจัย มาร่วมสร้างต้นแบบการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ทั้งระบบของจังหวัดน่าน และการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำจังหวัดแบบบูรณาการ
ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดเวทีการนำเสนอผลการวิจัย และการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันนี้ จะเกิดพลังเครือข่ายสำคัญ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนกลไกการบริหารจัดการน้ำในระดับตำบล ที่สามารถขยายผลเชิงระบบและ ยกระดับไปสู่การจัดการน้ำในระดับจังหวัด ภายใต้แผนหลักการบริหารจัดการน้ำจังหวัดแบบบูรณาการ ให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำที่เพียงพอกับความต้องการในช่วงหน้าแล้ง ลดผลกระทบในช่วงน้ำท่วม และมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่เพิ่มมากขึ้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit