CIVIL เผยทิศทางธุรกิจปี 2567 เติบโตต่อเนื่อง เตรียมเข้าประมูลงานรับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัว ชูจุดเด่นกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก พัฒนาเทคโนโลยีบริหารโครงการและเครื่องจักร ขยายประสิทธิภาพการดำเนินงานก่อสร้างอย่างยั่งยืน พร้อมรับรู้รายได้จากงานที่ได้รับในปี 2566 มูลค่ารวม 7,303 ล้านบาท ส่งมอบงานสำเร็จ 28 โครงการ ดัน Backlog โต 24,400 ล้านบาทด้านผลประกอบการปี 2566 รายได้ 4,935 ล้านบาท กำไรสุทธิ 94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46%
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้น จากโอกาสการเข้ารับงานโครงการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชนที่มากขึ้น โดยเป็นผลจากทิศทางการลงทุนและการพัฒนาประเทศของภาครัฐที่มีความชัดเจน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
ขณะที่บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทั้งห่วงโซ่ของงานก่อสร้างเพื่อให้ส่งมอบงานได้ตามแผนไม่สะดุด รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการในกลุ่มงานธุรกิจก่อสร้างที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการบริหารงานอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โปรแกรม Power BI สำหรับการบริหารงานภายในองค์กร ติดตามความคืบหน้างานและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และ ระบบ RPA (Robotic Process Automation) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ เพื่อการดำเนินงานที่รวดเร็ว สามารถส่งมอบงานและทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อขยายศักยภาพงานก่อสร้างอย่างยั่งยืน และ มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
"แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา หลายบริษัทในอุตสาหกรรมต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านการบริหารโครงการ รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีความล่าช้า อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานที่ยากขึ้น โดยเฉพาะด้านกระแสเงินสดจากการบริหารงานที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงสามารถประคองตัวได้ จากการบริหารจัดการโครงการและรักษาระเบียบวินัยด้านการเงิน สะท้อนได้จากการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เป็นบวก รวมถึงการดูแลซัพพลายเออร์ และ Sub-contractor ที่ได้รับผลกระทบได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพงาน และ การดำเนินโครงการภายใต้ความปลอดภัย ด้วยความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการดูแลพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี จะสามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากความชัดเจนของกำหนดการประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐที่จะทยอยเข้ามา ซึ่งถือเป็นโอกาสการเติบโตของบริษัทในการเข้ารับงานโครงการที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัท และรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือได้อย่างต่อเนื่อง" นายปิยะดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการเข้ารับรู้รายได้จากโครงการในมือโดยโครงการหลัก ประกอบด้วย งานก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง, งานถนนและทางยกระดับ และ งานคลองระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัย โดยปี 2566 บริษัทสามารถเข้าประมูลและรับงานใหม่ มูลค่ารวม 7,303 ล้านบาท และสามารถส่งมอบงานสำเร็จจำนวน 28 โครงการ ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่แข็งแกร่ง จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 บริษัทมี Backlog จำนวน 24,400 ล้านบาท แบ่งเป็นงานที่ลงนามสัญญาแล้วมูลค่ากว่า 13,800 ล้านบาท พร้อมรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2569 อีกทั้งยังมีงานที่อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาอีกหลายโครงการ
สำหรับผลประกอบการปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 4,935 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 6,095 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 65 ล้านบาท จากโครงการก่อสร้างที่บริษัทได้เข้าดำเนินงานเป็นโครงการที่สะท้อนราคาต้นทุนใหม่ และการบริหารโครงการก่อสร้างที่ดีด้วยทีมผู้รับเหมาที่มีความชำนาญ โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 1.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิ 1.1%
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit