"8 มีนาคม: วันสตรีสากล - การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน"

05 Mar 2024

วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็น "วันสตรีสากล" หรือ International Women's จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและสร้างความตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของผู้หญิง รวมถึงสิทธิมนุษยชนที่ผู้หญิงทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียม เสมอภาค โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ

"8 มีนาคม: วันสตรีสากล - การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน"

ซึ่งในปีนี้วันสตรีสากลได้เน้นย้ำถึง "การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน" (Inspire Inclusion) โดยทุกคนมีโอกาสและสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการเข้าถึงและได้รับสิทธิ หน้าที่ และโอกาส ตามหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม

รู้จักและเข้าใจความเสมอภาคทางเพศ

ความเสมอภาค (Equality) คือ ความเท่าเทียมในสิทธิ หน้าที่ และโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งความแตกต่างทางเพศต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการกำหนดสิทธิและโอกาสของบุคคลในสังคม ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศเป็นสาเหตุหนึ่งของความไม่เท่าเทียมและเป็นที่มาของการกระทำรุนแรงที่ส่งผลกระทบทั้งทางกาย จิตใจ สังคม ของบุคคล อคติทางเพศเป็นความรุนแรงที่สร้างปัญหาอย่างยิ่ง เช่น การกีดกันด้านการศึกษา อาชีพ ค่าจ้าง โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงาน การเข้าถึงบริการสาธารณะ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการคุกคามทางเพศ เป็นต้น

"ไทย" ความเสมอภาคทางเพศขยับขึ้น 5 อันดับ ติดอันดับ 74 ของโลก

ข้อมูลจากรายงานการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศทั่วโลก ประจำปี 2566 (Global Gender Gap Index 2023) ที่ผ่านมาว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 74 จากทั้งหมด 146 ประเทศ โดยอันดับขยับขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 79 ในปี 2565 ด้วยคะแนน 0.711 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.002 คะแนน

โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายปัจจัยพบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 24 ในหัวข้อความเสมอภาคด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่วนในด้านความสำเร็จทางการศึกษาอยู่ที่อันดับ 61 ขณะที่ด้านสุขภาพและการอยู่รอดอยู่ที่อันดับ 42 และการส่งเสริมศักยภาพทางการเมืองอยู่ที่อันดับ 120

สำหรับประเทศไทยนับว่ามีความก้าวหน้าและตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ระบุความหมายของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศอย่างชัดเจน ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด (มาตรา 3) และได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558

ทั้งนี้ มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ ขอเป็นหนึ่งในพลังเสียงเพื่อสนับสนุนบทบาทสตรี และผลักดันให้ทุกคนให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติ โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ มีการดำเนินงาน ส่งเสริมสิทธิเด็กและรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักแก่สาธารณชน รวมถึงมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนให้ความรู้แก่แม่ น้า และเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ อบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก และนโยบายคุ้มครองเด็ก ทั้งด้านการใช้แรงงานเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ ความปลอดภัยด้านสุขภาพและร่างกาย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตนเองเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กในครอบครัวโสสะ ได้ที่ เว็บไซต์ https://www.sosthailand.org/donate-now

 และรับชมคลิป ความเสียสละและความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของแม่โสสะ ผ่านหนังสั้นเรื่อง "แม่" ได้ที่ http://bit.ly/3XSxe5K

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.thansettakij.com/news/general-news/569098

https://www.weforum.org/reports/global-gender-gap-report-2023/in-full/benchmarking-gender-gaps-2023#country-coverage

HTML::image(