"รพ.ยันฮี" ผนึก "ปตท." ยกระดับวงการแพทย์ไทยสู่สากล นำ AI วินิจฉัย-ออกแบบรักษาโรคทันตกรรม เป็นรพ.เอกชนแห่งแรกในไทย

06 Mar 2024

โรงพยาบาลยันฮี เดินหน้าจับมือ ปตท.. ลงนาม MOU โครงการทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวินิจฉัยโรคและออกแบบการรักษาทางทันตกรรม เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในไทยที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้งานจริงในศูนย์ทันตกรรม ผลักดันประสิทธิภาพการรักษาโรคทางทันตกรรมอย่างแม่นยำ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย พร้อมยกระดับทันตแพทย์สู่ความเป็นมืออาชีพระดับสากล

"รพ.ยันฮี" ผนึก "ปตท." ยกระดับวงการแพทย์ไทยสู่สากล นำ AI วินิจฉัย-ออกแบบรักษาโรคทันตกรรม เป็นรพ.เอกชนแห่งแรกในไทย

ทพญ.สุชาวดี สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและกรรมการบริหาร โรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่า 'ศูนย์ทันตกรรม' ของโรงพยาบาลยันฮี เป็นศูนย์การรักษาที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง และได้รับมาตรฐานระดับสากล (JCI) ภายในศูนย์มีทันตแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางทุกสาขากว่า 80 ท่าน มีห้องตรวจรวม 83 ห้อง พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และวางแผนที่จะเปิดให้ครบ 100 ยูนิต ในอนาคตอันใกล้

นอกเหนือจากนี้ โรงพยาบาลยันฮี ได้ยกระดับให้ศูนย์ทันตกรรมก้าวสู่ระดับนานาชาติ ภายใต้การผลักดันในด้านต่างๆ เช่น การเสริมสร้างศักยภาพทันตแพทย์ด้วยการต่อยอดความเชี่ยวชาญให้เป็น Speaker ในงานวิชาการและการอบรมต่างๆ ร่วมกับองค์กรชั้นนำ อาทิ เทคนิคการจัดฟันด้วยนวัตกรรมยุคใหม่, กระบวนการรักษาฟันสบลึก, การศัลยกรรมขากรรไกร เป็นต้น รวมถึงลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาให้ก้าวทันวงการทันตกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค AI อย่างเต็มรูปแบบ โดยล่าสุด โรงพยาบาลยันฮี ได้ร่วมมือกับ 'ปตท..' ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวินิจฉัยโรคและออกแบบการรักษาทางทันตกรรม

"ปตท. คือหนึ่งในบริษัทผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ โรโบติกส์ และยังมีประสบการณ์ในการประยุกต์นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้เกิดความร่วมมือในการนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยโรค ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคทางทันตกรรมได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น หากคนไข้เข้ามารับบริการ X-ray เพื่อตรวจสุขภาพฟัน และพบว่ามีรอยโรคทางทันตกรรม ระบบนี้ก็จะบอกได้ว่าหากไม่ทำการรักษาตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตอีก 3 หรือ 5 ปีข้างหน้า โรคดังกล่าวอาจลุกลามเป็นโรคที่รักษาได้ยากและมีค่าใช้จ่ายมากกว่าตอนนี้ได้ เครื่องมือ AI ดังกล่าวนั้น สามารถอ่านผลและประเมินผลได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์ ยังคงเป็นผู้ประเมิน และสามารถกำกับ แก้ไขผลลัพธ์ และแผนการรักษาให้เป็นไปตามดุลยพินิจของทันตแพทย์" ทพญ.สุชาวดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

โดยภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ โรงพยาบาลยันฮี จะเป็นผู้ดำเนินการทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่ ปตท. จัดหาให้ เพื่อวินิจฉัยโรคและออกแบบการรักษาของศูนย์ทันตกรรม รวมถึงทำการเก็บรวบรวมและประเมินผลตอบรับของการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในด้านเทคนิคและด้านการตลาด จากทั้งมุมมองของบุคลากรโรงพยาบาลยันฮี กลุ่มทันตแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มารับบริการ พร้อมทั้ง ได้ทำแบบสอบถามความพึงพอใจการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เพื่อต่อยอดยกระดับบริการ ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรค ด้านพยากรณ์โรคทางทันตกรรมและสภาพช่องปาก และด้านการออกแบบการรักษาทางทันตกรรม ต่อไปในอนาคต

"ปัจจุบัน AI ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในวงการทันตกรรมทั่วโลก โดยนอกจากปัจจัยที่สามารถทำการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และช่วยลดจุดผิดพลาดที่อาจถูกมองข้ามแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังตอบโจทย์แง่ของการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคอื่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยพัฒนาการของ AI ที่ยังเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับทันตกรรมในประเทศไทย ทำให้โรงพยาบาลยันฮีและ ปตท. เห็นตรงกันว่าทุกการใช้งานยังต้องอาศัยทันตแพทย์ผู้ชำนาญการคอยควบคุมอยู่เสมอ

"นั่นจึงทำให้ โรงพยาบาลยันฮี ในฐานะของผู้นำด้านสุขภาพและความงามที่ครบวงจร พร้อมทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในทุกสาขา จึงมีความมั่นใจอย่างมากสำหรับการเป็น #โรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ที่จะนำเอาระบบการวินิจฉัยโรคและออกแบบการรักษาทางทันตกรรมด้วย AI มาใช้งานจริง พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพรอบด้าน เพื่อปฏิวัติวงการทันตกรรมและสร้างสุขภาพที่ดีกับคนไทย" ทพญ.สุชาวดี กล่าวย้ำทิ้งท้าย

HTML::image(