ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศยังคงปรากฎอยู่ในป่าไม้และวนเกษตรทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้หญิงมักขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร จากอุปสรรคทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ริตา วาตี ผู้นำกลุ่มมาจูเบอรซามาจากอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นแรงบันดาลใจอันทรงพลังให้ผู้หญิงจำนวนมากในภูมิภาคในเข้าร่วมการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องความเท่าเทียม ขณะที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการค้าไม้อย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรสามารถแสดงสิทธิ์การเป็นเจ้าของไม้ที่ปลูกเองผ่านแบบฟอร์ม self-declaration ของระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ไทย (TLAS) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนกระบวนการค้าไม้อย่างถูกกฎหมาย มีความชัดเจนและโปร่งใส่มากขึ้น โดยเฉพาะกับชุมชนที่อยู่โดยรอบเขตอุทยาน
แต่กับประเทศอื่นในภูมิภาค ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ายังคงขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะที่ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความเชื่อและค่านิยมที่มีต่อเพศ เหมือนกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกับประเทศอินโดนีเซีย ที่ผู้หญิงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและช่วยเหลือสังคม ผ่านการแสดงออกในแนวทางปฏิบัติด้านป่าไม้และความยั่งยืน
การสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจมักจะสวนทางกัน
จึงต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียสละอยู่เสมอซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสิ่งแวดล้อมเสมอ และความเสียสละนี้จะเกิดผลกระทบมากเป็นพิเศษหากภาครัฐขาดนโนบายที่ชัดเจน และไม่ให้ความสำคัญกับชุมชน เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นกับอุทยานแห่งชาติเครินชิ เซบลัท (Kerinci Seblat) ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา
อุทยานแห่งชาติเครินชิเซบลัท ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดของอาเซียนเมื่อปี 2546 และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก "ป่าฝนเขตร้อนแห่งเกาะสุมาตรา" (TRHS) ที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติเครินชิ เซบลัท เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ที่ถูกบุกรุกเป็นจำนวนมาก เฉพาะในปี 2557 อุทยานแห่งชาติสูญเสียพื้นที่ไปถึง 1,303.22 ตารางกิโลเมตร จากความไม่ใส่ใจต่อการอนุรักษ์พืนที่ป่าของชุมชนต่างๆ พื้นที่ป่าที่เสียไปนี้ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อแหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตรของชุมชนโดยรอบ
ริตา วาตี (Rita Wati) เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่อยู่โดยรอบอุทยาน ที่ผ่านมาเธอพบว่าชาวบ้านในชุมชนหลายคนถูกลงโทษเพียงเพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าการหาอาหารและเก็บกิ่งไม้จากพื้นที่คุ้มครองนั้นเป็นความผิด นั่นทำให้ในปี 2560 เธอได้ตัดสินใจร่วมกับเพื่อนของเธอในการเข้าร่วมการฝึกอบรมโดยสถาบันการเรียนรู้ การสนับสนุน และการศึกษา (LivE) (The Institute for Studies, Advocacy, and Education: LivE) เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงต่อการอนุรักษ์ป่าในพื้นที่อุทยาน โดยสถาบันแห่งนี้ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ ความท้าทายของผู้หญิง ในการดูแลสุขภาพ ดูแลพื้นที่ การทำเกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ภายหลังการฝึกอบรม ริตาได้เป็นผู้นำกลุ่มในการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในการดูแลสิ่งแวดล้อม
ภายหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 ที่หมู่บ้าน Pal VIII ริตาได้จัดตั้ง "กลุ่มสตรีเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมมาจูเบอรซามา (Maju Bersama) เพื่อมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ โดยริตาเน้นย้ำถึงสิทธิสตรีและบทบาทสำคัญของป่าไม้กับชีวิต ปัจจุบันริตานำกลุ่มมาจูเบอรซามา เข้าร่วมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติภายใต้การสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่ และผู้นำหมู่บ้าน ผู้แทนจากภาครัฐ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ อารีฟ ตุงคากี (Arief Toengkagie)
ความมุ่งมั่นของริตาเริ่มส่งผล เมื่อกลุ่มได้รับอนุญาตให้ยื่นข้อเสนอเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการ การอนุรักษ์ และการได้รับประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืนเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 แม้จะมีความท้าทายในการติดตามผลจากกฎระเบียบด้านการอนุรักษ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ริตาก็ยังคงเดินหน้าแสวงหาการสนับสนุน จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ซิติ นัวบายา (Siti Nurbaya) และมีส่วนร่วมกับ ทาเมน ซิโตรุส (Tamen Sitorus) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคนใหม่
หลังจากความพยายามอย่างต่อเนื่องในวันที่ 5 มีนาคม 2562 เธอก็ประสบความสำเร็จเมื่อนำกลุ่มมาจูเบอรซามา ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์กับอุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้กลุ่มมาจูเบอรซามา เป็นสตรีกลุ่มแรกที่มีส่วนร่วมในการบุกเบิกการจัดการผืนป่าในอินโดนีเซีย
ริตากล่าวว่า ความก้าวหน้าที่เกิดจากแรงบันดาลใจของเรา ก่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง ตอนนี้ผู้หญิงในหลายหมู่บ้านได้ร่วมตัวกันเคลื่อนไหวและต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ป่าไม้
ผลกระทบเชิงบวก
ปัจจุบันกลุ่มมาจูเบอรซามากับสมาชิกทั้ง 25 คนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้ ได้จุดประกายให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกมากมาย นอกเหนือจากการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรแล้ว พวกเขายังเป็นตัวแทนของชุมชนเข้าร่วมการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญ และได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมากมาย
ตัวอย่างที่โดดเด่น อาทิ การมีส่วนร่วมในงานมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ในหัวข้อ "The Role of Women in Social Forestry for Food Resilience" ในกรุงจาการ์ตา การร่วมก่อตั้งสมาคมผู้จัดการป่าชุมชนในอินโดนีเซีย (Indonesia Social Forestry Manager Association) ซึ่งสนับสนุนโดย WALHI องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย กิจกรรมเหล่านี้ตอกย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงและกลุ่ม มาจูบอรซามาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะบทบาทในการอนุรักษ์ป่าไม้ เช่น การกำหนดแผนการจัดการระยะยาวสำหรับอุทยานแห่งชาติเครินชิเซบลัท
การเข้าร่วมของกลุ่มสตรีมาจูเบอรซามาเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้ ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการทำความเข้าใจระหว่างอุทยานแห่งชาติกับชุมชน สอดคล้องกับทิศทางของสหประชาชาติที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาด้านความยั่งยืน SDG 17 ประการ และความร่วมมือระหว่างกลุ่มมาจูเบอรซามาและอุทยานแห่งชาติ ยังเป็นแรงบันดาลใจอันทรงพลังให้ผู้หญิงจำนวนมากในภูมิภาคในเข้าร่วมการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมของประเทศ
เรื่องราวความสำเร็จของริตา ก่อให้เกิดเวทีสำหรับผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของผู้หญิงที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการร่วมปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่โดดเด่น และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit