สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแลกเปลี่ยนและระดมข้อคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการเพื่อร่วมกันวางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สำหรับขับเคลื่อนประเด็นด้านพลังงานในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม ผ่านเวทีเสวนา "การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ" ครั้งที่ 4 พลังงานสะอาด: Hydrogen & Sustainable Aviation Fuel (SAF) โดยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ล้วนมีความเห็นตรงกันว่าประเทศไทยควรปรับโครงสร้างพลังงานให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ส่วนภาครัฐควรมีนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาด้านพลังงานโดยคำนึงถึงสเถียรภาพพลังงานของประเทศที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเช้าถึงพลังงานสะอาดอย่างเท่าเทียม ซึ่งนวัตกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และงานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และรัฐบาลมีนโยบายในการเร่งนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนดังกล่าว ในการสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเวทีเสวนาในครั้งนี้จะมุ่งเน้นนำเสนอสถานการณ์และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่องว่างความรู้ของอุตสาหกรรมพลังงาน พร้อมเปิดรับฟังความเห็นประเด็นวิจัยสำคัญ และข้อเสนอเพื่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพลังงานต่อไป
ด้านนางภาวิณา อัศวมณีกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน มีความสอดคล้องกับมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเสมอภาค และสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน พัฒนาระบบไฟฟ้าที่รองรับความต้องการอย่าเพียงพอ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานสะอาดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ขณะที่ ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG ส.อ.ท. กล่าวว่า อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการดำเนินการด้านการค้าระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การกีดกันทางการค้า ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว เกิดเป็น พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เกิดการส่งเสริมมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากภาคนโยบาย และการเงิน นำไปสู่แนวทางการดำเนินการอย่าง Thailand taxonomy for climate change ที่จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสามารถดำเนินการที่ตอบโจทย์ประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน ยกระดับทักษะของแรงงาน และการปรับกฎระเบียบและข้อติดขัด รวมถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการบูรณาการการดำเนินการ เพื่อช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้นไป
ในมุมของสถานการณ์ ววน. ดร.กัมปนาท ซิลวา คณะทำงานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา ววน. ด้านพลังงานคาร์บอนต่ำ สกสว. อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำในปัจจุบันคือต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และคุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรจัดลำดับความสำคัญในการส่งเสริม และให้การสนับสนุนที่เหมาะสมกับความพร้อมของแต่ละเทคโนโลยีในบริบทของประเทศ ซึ่งไฮโดรเจน และ SAF เป็นสองเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง ที่ประเทศต้องเตรียมการสนับสนุนต่อไป สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนควรสร้างกลไกให้เกิดการนำไปใช้มากขึ้น หรือส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และ SAF เป็นเทคโนโลยีที่ควรวางแผนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระยะสั้นกลาง และส่งเสริมการนำไปใช้ในระยะยาว
ทั้งนี้ ในช่วงเสวนา "โอกาสและความท้าทายในการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน และ SAF ของไทย เพื่อการใช้งานในเชิงพาณิชย์" ดำเนินการเสวนาโดย ดร.นุวงศ์ ชลคุป ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา ววน. ด้านพลังงานคาร์บอนต่ำ และได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.เนรัญ สุวรรณโชติช่วง ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้นำเสนอสถานการณ์การผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และศักยภาพของการใช้ไฮโดรเจนสำหรับภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคคมนาคมขนส่ง ซึ่งอยู่ในการพัฒนาเป็นโรงงานต้นแบบที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นสารตั้งต้น คุณสุรพร เพชรดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด กล่าวถึงศักยภาพของ SAF ต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานในประเทศไทย ซึ่งจากการสนับสนุนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International civil Aviation Organization, ICAO) ที่ให้ใช้ SAF ทดแทนน้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิล จึงเป็นโอกาสของประเทศที่เร่งดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ คุณสุพัฒน์ อำไพธนากร ผู้ทรงคุณวุฒิ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าภาคการเงินพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยมาตรการ taxonomy เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ดร.วิศาล ลีลาวิวัฒน์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอความก้าวหน้า และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจน และ SAF ในประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่มุ่งสู่การใช้จริงเชิงพาณิชย์
ซึ่งจากการเสวนา พบว่าทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ มีความเห็นตรงกันว่าควรปรับโครงสร้างพลังงานประเทศให้เอื้อต่อผู้ประกอบการ การมีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจนและต่อเนื่อง การส่งเสริมและพัฒนาด้านพลังงานโดยคำนึงถึงสเถียรภาพพลังงานของประเทศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ราคาพลังงานสะอาด และความสามารถในการเช้าถึงพลังงานสะอาดอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้นวัตกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานที่มีต้นทุนต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และงานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่เป็นธรรม อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit