ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ อันดับ 1 ในไทย ประเภทภาพรวมนักวิชาการจากการเก็บข้อมูลในช่วงระยะเวลา 5 ปีในทุกสาขาวิชา และประเภทสถาบัน มจธ. เป็นอันดับ 10 ของโลก ด้าน Life-cycle Assessment จากการจัดอันดับของ ScholarGPS(TM) World Rankings
ในเดือนพฤษภาคม 2567 ScholarGPS(TM) World Rankings ได้มีการประกาศผลการจัดอันดับจากการประเมินผลงานวิจัยของนักวิชาการทั่วโลกในสาขาวิชาต่างๆ โดยแบ่งเป็น การจัดอันดับสำหรับนักวิชาการ (Scholar Rankings) และการจัดอันดับสำหรับสถาบัน หน่วยงาน องค์กร (Institutional Rankings) โดยจะถูกประเมินใน 4 กลุ่ม คือ 1) ภาพรวมทุกสาขา (Overall- All Fields) 2) กลุ่มสาขาวิชา (Fields) 3) กลุ่มรายวิชา (Disciplines) และ 4) กลุ่มสาขาวิชาเฉพาะทาง (Specialties)โดยตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินเพื่อจัดอันดับ ได้แก่ ผลผลิต วัดจากจำนวนผลงานตีพิมพ์ที่ถูกเก็บถาวร (Productivity- archival Publication Count) ผลกระทบ วัดจากจำนวนการอ้างอิง (Impact-citation Count) คุณภาพ วัดจาก h-index (Quality - (h-index)) และการจัดอันดับ ScholarGPS(TM) Ranks คำนวนจากค่าเฉลี่ยของคะแนนผลผลิต ผลกระทบ และคุณภาพ
โดยแต่ละตัวชี้วัดจะพิจารณาในรายละเอียดด้วยกรอบการพิจารณา 3 กรอบ คือ 1) ระยะเวลา (Duration) พิจารณาจากผลงานตีพิมพ์ตลอดชีวิต หรือผลงานตีพิมพ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2) การให้เครดิตการมีส่วนร่วมของผู้เขียน (Author Contribution Credit) พิจารณาโดยไม่ถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้เขียน หรือถ่วงน้ำหนักจำนวนผลงานตีพิมพ์และการอ้างอิงของผู้เขียนตามจำนวนผู้เขียนในผลงานนั้น และ 3) การนับรวมการอ้างอิง (Citation inclusion) พิจารณาโดยรวมการอ้างอิงทั้งหมด หรือไม่รวมการอ้างอิงตนเอง (การอ้างอิงจากผลงานตีพิมพ์โดยผู้เขียนคนเดียวกัน)
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า "เป็นที่น่ายินดีกับผลการจัดอันดับของ มจธ. ที่เป็นดอกผลจากการที่คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและมีผลกระทบสูงต่อทั้งสังคม ประเทศ และในระดับโลกออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการจัดอันดับสำหรับสถาบัน หน่วยงาน องค์กร (Institutional Rankings) มจธ. เป็นอันดับ 10 ของโลก กลุ่มรายวิชา (Disciplines) ภาพรวมการดำเนินงานระยะเวลา 5 ปี ก่อนหน้า (ปี 2018-2022) ด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ Institutional Rankings - prior Five Years Global Specialties in Life-cycle Assessment นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของ มจธ. ได้รับการจัดอันดับตามสาขา (Fields) ใน 2 สาขาวิชา คือ Engineering and Computer Sciences อันดับที่ 631 ของโลก และสาขาวิชา Life Sciences อันดับที่ 635 ของโลก การจัดอันดับตามแขนงวิชา (Disciplines)
มจธ. ติดอันดับโลก 1 แขนงวิชา คือ Mechanical Engineering ในอันดับที่ 205 จึงขอแสดงความชื่นชมในการอุทิศตนของคณาจารย์ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยคุณภาพระดับนานาชาติ โดยได้สร้างผลกระทบต่อทั้งแวดวงวิชาการและต่อสังคม"ScholarGPS(TM) World Rankings สถาบันการจัดอันดับจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดย Meta Analytics LLC. เป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและบรรณมิติ (Bibliometrics) โดยนำเอาข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลสิ่งพิมพ์ที่ถูกเก็บถาวรกว่า 200 ล้านรายการ เช่น บทความวารสาร หนังสือ บทความในงานประชุมวิชาการ และสิทธิบัตร ที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ทางสถิติอย่างเป็นระบบเพื่อใช้วัดคุณภาพของงานวิจัย
รวมไปถึงใช้วัดความสามารถในการผลิตงานวิจัยของนักวิจัยและสถาบันต่าง ๆ และสามารถสร้างบัญชีข้อมูลนักวิชาการที่มีข้อมูลเชิงลึกหลากหลายมิติ ครอบคลุมข้อมูลนักวิชาการทั้งจากภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ มากกว่า 30 ล้านคน จากสถาบัน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ กว่า 55,000 แห่ง นอกเหนือจากโปรไฟล์ของนักวิชาการแต่ละคนแล้วนั้น ฐานข้อมูลของ ScholarGPS(TM) ยังจัดเก็บผลงานวิจัยของหน่วยงานด้านวิชาการกว่า 15,000 แห่ง ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งหมวดหมู่กิจกรรมทางวิชาการออกเป็น 14 สาขาหลัก (Fields) อาทิ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังแบ่งย่อยสาขาเหล่านั้นออกเป็น 177 กลุ่มรายวิชา (Disciplines) ที่สอดคล้องกับภาควิชาการทั่วไป และมีฐานข้อมูลที่โดดเด่นซึ่งแบ่งแยกอย่างละเอียดอีกขั้น คือ สามารถแบ่งสาขาวิชาเฉพาะทาง (Specialties) ออกเป็นกว่า 350,000 สาขาวิชาเฉพาะทาง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit