สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ในหัวข้อ "โดรนอัจฉริยะ" (Sky Innovator : Coding for Drone Mastery) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมโดรน และเพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน (อาคาร 7) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำทีมวิทยากรมาร่วมให้ความรู้ เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียน ได้เข้าใจถึงพื้นฐานของโดรน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการฝึกปฏิบัติประกอบโดรนให้สามารถบินได้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้เห็นหลักการทำงานองค์รวมของโดรนได้อย่างแท้จริง เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวเปิดเผยถึงการจัดอบรมครั้งนี้ว่า "สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และ สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย) เปิดอบรมฟรีการเขียนโปรแกรมโดรนแปรอักษรให้กับเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งมีเยาวชนนักเรียนทั่วประเทศ ส่งตัวแทนโรงเรียนละ 10 คนเข้ามาร่วมในการฝึกอบรม ซึ่งสมาคมฯ ได้เปิดอบรมวันละ 50 คนเท่านั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการติดต่อจากประเทศจีน ในการทำ MOU เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นสมาคมแรกที่ได้ทำ MOU ด้วย นอกจากห้องฝึกอบรมของสมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ไทย ที่จัดให้มีการฝึกอบรมและทางด้านการเรียนการสอนแล้ว ทางสมาคมยังมีศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ที่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม สามารถไปฝึกอบรมจากสถานที่จริง ที่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ได้อีกด้วย"
"โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อที่จะสร้างนักบินรุ่นใหม่ เราไม่มองว่านักเรียนเขาจะมาจากที่ไหน มีเงินร่ำรวยแค่ไหนนะครับ แต่เราเปิดโอกาสให้กับนักเรียน เด็ก ๆ ชาวบ้าน ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ตามจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาร่วมอบรมและเรียนรู้กับเราได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในโครงการของเราที่ทำตรงนี้ เราทำมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน เรามีนักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศ และจากการที่เราให้ความรู้ไปอย่างนี้ ณ ปัจจุบัน สังเกตนะครับ กฎหมายการบินก็ออกและเกิดขึ้นมาได้ เพื่อควบคุมการบินเพื่อไม่ให้ไปละเมิดสิทธิต่อบุคคล แต่ ณ ปัจจุบันนี้เด็กไทย เราก้าวกระโดดแล้ว ก้าวไปสู่การที่จะผลิตและสร้าง UA V ได้ด้วยตนเองนะครับ ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุทำให้หลายเจ้า หลายประเทศ อยากจะเข้ามาคล้ายกับประเทศไทยและลักษณะของการทำ MOU บอกได้เลยครับว่าเราโชคดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินค่าเปิดโม ไม่ต้องไปเสียเงินค่าเปิดโหมดที่จะไปฉีดโครงสร้างใบพัดรูปทรงต่าง ๆ เรื่องของบอดี้ครับ การทำ MOU ร่วมกัน เราได้ฮาร์ดแวร์ของเขามาซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าจีนเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว เขามีซอฟต์แวร์ที่ดี ผมมองว่าการที่เข้ามาก็จะเกิดประโยชน์ว่าในอนาคตเราอาจจะได้ทั้งซอฟต์แวร์แล้วมาพัฒนาคนของเรา ให้ทำซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เก่งเทียบเท่าเขา และสุดท้ายอาจจะแซงหน้าเขาในอนาคตก็ได้ครับ"
น.ส.ชนัญธิดา อุปัชฌาย์ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ตัวแทนนักเรียนที่เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า "จากการที่เรามีพื้นฐานมาจากภาษาโปรแกรม Python อยู่แล้วค่ะ ก็ได้ฝึกเขียนปรับแต่งไปจากภาษาไพธอนค่ะ เหตุการณ์นำไปต่อยอดในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ในเดือนกรกฎาคม 2567 ณ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ค่ะ ก็อยากจะขอบคุณ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ที่จัดกิจกรรมมีให้กับพวกเราได้เข้าอบรมฟรีค่ะ"