ผื่นแพ้แดด : ภัยผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน

21 May 2024

ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีสภาวะอากาศร้อนหรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และสภาพแวดล้อมที่อบอ้าว ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของหลายๆ คน และ 1 ในปัญหาสุขภาพของสภาวะอากาศร้อนนี้คือ ปัญหา "ผื่นแพ้แดด"

ผื่นแพ้แดด : ภัยผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญจันทร์ สิทธิปรีชาชาญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโรค "ผื่นแพ้แดด" พบได้บ่อยในช่วงอากาศร้อน และในปัจจุบันพบผู้ที่เป็นผื่นแพ้แดดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น "ผื่นแพ้แดด" เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงยูวี (Ultraviolet light) ในแสงแดด และเหงื่อ ส่งผลให้ผิวหนังเกิดผื่นขึ้นหลังจากสัมผัสแสงแดด ซึ่งการตอบสนองของผิวหนังแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนมีการตอบสนองแบบเฉียบพลัน หรือบางคนต้องสัมผัสแสงแดดระยะเวลาหนึ่งจึงจะเกิดผื่นแพ้แดดขึ้น นอกจากนี้ การเกิดผื่นแพ้แดดยังเกิดจาก สาเหตุอื่น ๆ การสัมผัสแสงแดดช่วงเวลาเที่ยง ภาวะภูมิไวรับต่อแสงแดดของแต่ละบุคคล และความบอบบางของผิวหนัง ผื่นแพ้แดดที่เกิดขึ้น มีรูปร่างที่แตกต่างกัน เช่น ตุ่มผื่นแดงเล็ก ๆ ตุ่มน้ำใส แผลพุพอง ผื่นลมพิษ บวม และส่วนใหญ่มีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งจะคันมากขึ้นเมื่อสัมผัสถูกเหงื่อ ผื่นแพ้แดดจะพบมากบริเวณผิวหนังที่สัมผัสถูกแสงแดดโดยตรง เช่น หน้า ลำตัว และแขนขา

ในฤดูร้อนนี้ หากเราต้องเผชิญแสงแดดเป็นประจำ หรือต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง วิธีการป้องกันผิวหนังจากแสงแดด สามารถทำได้ ดังนี้ หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดในช่วงที่มีแดดแรง โดยเฉพาะช่วงระหว่าง 10.00 - 16.00 น. หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านและต้องสัมผัสกับแสงแดด ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนแขนยาวเพื่อป้องกันแสงแดด สวมหมวก หรือกางร่ม ทาครีมกันแดด (Sunscreen) เลือกที่มี SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป โดยทาครีมกันแดดก่อนสัมผัสแดดอย่างน้อย 15-30 นาที และควรจะทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง กรณีที่มีเหงื่อออกมากๆ และ เมื่อกลับเข้าบ้านควรทำความสะอาดร่างกาย เช็ดผิวหนังให้แห้ง เพื่อลดการระคายเคืองที่ผิวหนัง หากมีอาการผื่นแพ้แดด สิ่งสำคัญเลยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำหอม หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังที่ก่อให้เกิดการแพ้ สำหรับผู้ที่รับประทานยา เช่น ยาเบาหวาน ยาขับปัสสาวะ ยารักษาเชื้อรา และยากลุ่มซัลฟา ในกรณีที่แพ้ยา แสงแดดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้แดดได้มากขึ้น กรณีที่มีอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยโรค และการรักษาที่ถูกต้อง

ผื่นแพ้แดด : ภัยผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit