ศาสตราจารย์ ดร.คณิต เขียววิชัย คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร เปิดเผยถึงโครงการ "การสานสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม 1 ภาควิชา 1 ชุมชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ (Social Engagement) ว่าหลังจากที่ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและร่วมหารือถึงแนวทางในการดำเนินการจัดกิจกรรมตามนโยบายและแผนดำเนินงานของคณะศึกษาศาสตร์ไปแล้วนั้น ปัจจุบันแต่ละภาควิชาได้ส่งหัวข้อและโจทย์ที่จะเข้าชุมชนมาเรียบร้อยแล้ว โดยส่วนใหญ่เลือกเข้าโรงเรียนก่อน เพื่อปูทางและยกระดับลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน
"สำหรับเป้าหมายของการจัดโครงการ "1 ภาควิชา 1 ชุมชน" เราอยากให้นักศึกษาและอาจารย์ ได้ร่วมกันลงไปช่วยชุมชน โดยแต่ละภาควิชาจะมีหัวข้อประเด็นแตกต่างกันไป โดยเริ่มจากพื้นที่ในจังหวัดนครปฐมเป็นหลัก และเลือกลงไปที่โรงเรียน-ชุมชน ซึ่งพวกเขาจะลงไปช่วยพัฒนาสื่อการเรียน-การสอน รวมทั้งพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยใช้การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการศึกษาให้กับเด็ก ให้มีความพร้อมในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เป็นการสร้างทักษะทางสังคม โดยจะไปลดเรื่องการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss หลังจากการเกิดไวรัสโควิด-19 แล้วเด็ก ๆ หรือนักเรียน จะต้องเรียนออนไลน์ โดยอาจารย์แต่ละภาควิชาจะลงไปเสริมนวัตกรรม ไปช่วยเด็ก เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งเราจะไม่คิดไปให้เขาทำ แต่จะคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ลงไปช่วยเสริมให้กับเขา โดยเฉพาะนักเรียน ที่มักจะบอกว่า เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา จากการวัดประเมินพบว่าเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ในการเรียนรู้ ก็จะเสียโอกาสทางการศึกษาไปด้วย หลังจากการเข้าโรงเรียน เราก็จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปกครองและชุมชน ได้ทราบถึงอาชีพ และผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชน จะรู้โจทย์และปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาสุขภาพ ทั้งปัญหาการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ และสิ่งที่เขาขาดคือองค์ความรู้ เราก็จะดำเนินการในระยะต่อไป" ศาสตราจารย์ ดร.คณิต เขียววิชัย คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวในที่สุด
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit