รศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี มีนโยบายมุ่งมั่นที่จะสร้างวิศวกรนักปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และความต้องการของตลาด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับปรุง พัฒนารายวิชาเพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับโรบอท ระบบออโตเมชั่น หรือระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม และงานวิจัยต่างๆ เพื่อให้เกิดงานทางวิศวกรรมสมัยใหม่ที่มีความเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มการเกษตร กลุ่ม BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) กลุ่มคาร์บอนเคตดิต และอีกกลุ่มที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ความสำคัญ คือ วิศวกรรมสมัยใหม่ที่ตลาดมีความต้องการ เช่น วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน และวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
จากความมุ่งมั่นของคณะฯที่เกิดขึ้น ทำให้นักศึกษาได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมพลังงานและวัสดุ ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดนวัตกรรมระดับโลก The 48Th Geneva International Exhibition of Inventions ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหะการ ได้รับรางวัลเหรียญทองเรื่อง เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม Thailand new gen inventors aware 2024 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมด้านแบตเตอรี่ จากโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิศวกรรมระบบราง รับรางวัลด้าน Track-based Challenge จากการแข่งขัน TRRN Railway Challenge 2024 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ สาขาวิศวกรรมนวัตกรรมสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสเปยร์สำหรับรีดผ้าให้คุณสมบัติสะท้อนน้ำและมีกลิ่นหอมยาวนาน ชนะเลิศการประกวด RMUTT Young StartUp Fund 2024 เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการที่ได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้ขณะนี้คณะฯ มีการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก 3 หลักสูตร ปริญญาโท 6 หลักสูตร ที่เน้นงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และผู้ที่มาเรียนจาก คนที่มีงานทำ สายอาชีพ เป็นหลัก ส่วนในระดับปริญญาตรีมีหลักสูตรวิศวกรรมสาขาหลัก ที่มีใบประกอบวิชาชีพ 10 หลักสูตร และ วิศวกรรมสาขาเฉพาะทาง 6 หลักสูตร รวมเป็น 16 หลักสูตร เช่น หลักสูตรระบบราง อากาศยาน EV พลาสติก สิ่งทอ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้ง 16 หลักสูตรยังคงได้รับความนิยมจากนักศึกษามีอัตราการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในจำนวนตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ซึ่งแต่เดิมนักศึกษาจะมุ่งสู่หลักสูตรที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเป็นหลัก แต่ด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างมากขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทำให้หลักสูตรเฉพาะทางหรือหลักสูตรสมัยใหม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะหลักสูตรเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มาแรงในตลาดและตรงกับนโยบายการพัฒนาประเทศ จากเดิมที่เปิดหลักสูตรเหล่านี้เปิดรับนักศึกษาประมาณ 30 คนต่อห้อง ได้ขยายเป็น 40 คนต่อห้อง และทุกสาขามีการเปิด 2-3 ห้องเรียน ถึงแม้จะมีการขยายห้องเรียนแต่คณะฯ ยังคงรักษามาตรฐานการศึกษามีการบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมให้บุคลากรตลอดเวลาพร้อมทั้งเชิญอาจารย์พิเศษจากภาคอุตสาหกรรม หรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้นักศึกษาโดยเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์
รศ.ดร.สรพงษ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาการเรียนการสอนด้วยการเปิดหลักสูตรเฉพาะทางเพิ่มขึ้น เชื่อว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพราะตลาดมีความต้องการแรงงานด้านนี้ โดยเฉพาะหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เปิดสอนมา 1 ปีและเป็นการเปิดรักนักศึกษาระดับปวส.เข้าศึกษาต่อ มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และแสดงเจตจำนงหากนักศึกษาสอบผ่านสมรรถนะจะเข้ารับทำงานทันที ดังนั้น การเรียนการสอนต่อไปของคณะวิศวกรรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จะยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาองค์เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และจะไม่เรียนเพียงแค่มุ่งผลิตหุ่นยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จะประยุกต์ความรู้ที่หลากหลายมาต่อยอดไปสู่เป้าหมายวิศวกรรมที่เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit