ส.ไทยรับสร้างบ้านแจงปริมาณบ้านสร้างเองไตรมาสแรกชะลอตัว ผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจ-ต้นทุนค่าก่อสร้าง เผยผลกระทบฉุดบ้านกลุ่มราคา 5-10 ล้านบาทหดตัว ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ภาครัฐในส่วนของการลดหย่อนภาษี 1 หมื่นต่อ 1 ล้าน ไม่จูงใจ-ไม่แก้ปัญหาการแข่งขันเหลื่อมล้ำ หวั่นปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน อิหร่าน-อิสราเอลที่กำลังปะทุ กลายเป็นแรงกดดันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทำตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีแรกซึมยาว
นายนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association : THBA) เปิดเผยว่า ความต้องการปลูกสร้างบ้านของผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ยังคงชะลอตัวตามที่คาดการณ์ไว้โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งพบว่าปริมาณความต้องการปลูกสร้างบ้านลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลปริมาณความต้องการปลูกสร้างบ้านยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ทั้งนี้ประเมินว่าสาเหตุหลัก ๆ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ค่าก่อสร้างและราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันและกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ตลาดบ้านสร้างเองหดตัวและผู้ประกอบการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ทำการสำรวจตลาดรับสร้างบ้านและราคาบ้านที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค พบว่าบ้านกลุ่มราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทได้รับความนิยมสูงสุด หรือคิดเป็นสัดส่วน 55% รองลงมาเป็นบ้านกลุ่มราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 36% ส่วนบ้านในกลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท พบว่าความต้องการลดลงโดยมีสัดส่วนเพียง 9% เท่านั้น สาเหตุสำคัญ ๆ ที่ทำให้บ้านกลุ่มราคา 5-10 ล้านบาทได้รับความนิยมลดลง คาดว่าผู้บริโภคในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น รวมถึงราคาค่าก่อสร้างบ้านที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาปรับลดขนาดบ้านลง เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่กำหนดไว้
"ในส่วนของ 5 มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ สำหรับประชาชนผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท ต่อค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาทนั้น ถือได้ว่าผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ได้รับอานิสงค์จากมาตรการนี้น้อยมาก เพราะเป็นที่รับรู้กันดีว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในธุรกิจนี้ ไม่เข้าระบบภาษีหรือหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (Vat) ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เหลื่อมล้ำหรือมีความได้เปรียบเสียเปรียบด้านต้นทุนภาษี ในขณะที่วัตถุประสงค์แท้จริงของรัฐบาลคือ ต้องการจูงใจประชาชนและดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง ดังนั้นมาตรการนี้จึงไม่จูงใจผู้บริโภคมากนัก หากเปรียบเทียบกับการเลือกว่าจ้างผู้ประกอบการที่ชักจูงด้วยการเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยในมุมมองของสมาคมฯ เห็นว่าไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่ไม่เข้าสู่ระบบภาษี มีแต่ตรวจสอบและจับผิดเรื่องความผิดพลาดเล็กน้อยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น"
สำหรับ แนวโน้มปริมาณบ้านสร้างเองในช่วงไตรมาส 2 นี้ สมาคมฯ ประเมินว่าความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคจะยังชะลอตัวต่อเนื่อง เป็นผลให้ตลาดรับสร้างบ้านโดยรวมครึ่งปีแรกมีแนวโน้มชะลอตัวตามกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลัก ๆ นอกจากเรื่องค่าก่อสร้างและราคาพลังงานที่สูงขึ้นแล้ว เรื่องของความไม่เชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ นอกจากนี้ราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการ ยังมีนัยยะสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งส่งผลกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีต่อภาคธุรกิจรับสร้างบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับกำลังซื้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ได้แนะนำสมาชิกให้ระมัดระวังกับปริมาณความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง นอกจากนี้ยังควรจับตาเรื่องของสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลที่กำลังปะทุอยู่ในขณะนี้ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะทำให้ตลาดรับสร้างบ้านมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นสมาชิกควรมีแผนสำรองไว้รับมือ หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยเฉพาะการมีจุดขายที่แตกต่างและจุดยืนทางธุรกิจที่ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคาให้มากที่สุด นายกสมาคมฯ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit