บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร เดินหน้าบริหารจัดการอาหารส่วนเกินและลดปัญหาขยะอาหารอย่างยั่งยืน พร้อมร่วมขับเคลื่อน "ธนาคารอาหารของประเทศไทย" (Thailand's Food Bank) ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มูลนิธิ SOS ภาคเอกชน สอดรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน และส่งเสริมเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของSDGs
นายทวิช ทัฬหะกาญจนากุล ผู้อำนวยการโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CPFGS ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของซีพีเอฟ ที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของซีพีเอฟภายในประเทศไทยและจำหน่ายไปยังต่างประเทศ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มีพันธกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร นอกจากให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย คุณภาพอาหาร และการเข้าถึงอาหารแล้ว ยังตระหนักถึงการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน มุ่งมั่นลดขยะและขยะอาหารตลอดกระบวนการผลิต รวมไปถึงการวางแผนจัดการสินค้าให้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า การจัดการอายุการเก็บรักษา (Shelf life) หากมีสินค้าคงเหลือ เพื่อลดการตัดทำลายกลายเป็นขยะสู่หลุมฝังกลบ บริษัทฯให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมา ได้ร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (มูลนิธิ SOS สาขาประเทศไทย)ดำเนินโครงการ "Circular Meal มื่อนี้เปลี่ยนโลก" นำอาหารส่วนเกินจากศูนย์กระจายสินค้าบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะแชิงเทรา และศูนย์กระจายสินค้ามหาชัย จ.สมุทรสาคร ทั้งในรูปแบบของอาหารพร้อมทาน อาหารแช่แข็งและแช่เย็น ซึ่งเป็นอาหารที่ยังคงคุณภาพ ปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี ส่งมอบให้กับกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้มีรายได้น้อย เด็ก ผู้สูงอายุ ฯลฯ ในชุมชนทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยส่งมอบไปแล้วมากกว่า 200,000 มื้อ สามารถลดปริมาณขยะอาหารได้ประมาณ 50 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 124 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้มากกว่า 13,000 ต้น
"ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ มุ่งลดปริมาณขยะสู่การฝังกลบ (Zero Food Waste to Landfill) สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศในด้านอาหาร และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)ข้อ2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และ ข้อ12 แผนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน และพร้อมเดินหน้าสนับสนุนความร่วมมือในการศึกษาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน ลดปัญหาขยะอาหาร" นายทวิช กล่าว
ล่าสุด (15 พ.ค.) บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่สวทช.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน)หรือ สวก.ดำเนินการศึกษาต้นแบบและแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยตัวแทนของซีพีเอฟได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน(Surplus Food) ร่วมกับ นักวิจัยของ สวทช. ตัวแทนมูลนิธิ SOS สาขาประเทศไทย และผู้แทนจากภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคอาหารให้กับ SOS ณ โรงเรียนคลองทรงกระเทียม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการสร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อส่งต่อให้กับผู้มีความต้องการอาหารและกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย และส่งเสริมการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit