EXIM BANK ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ปักหมุดพัฒนาระบบนิเวศสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ ชูความสำเร็จโครงการบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ครั้งแรกในไทย

30 May 2024

EXIM BANK ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ปักหมุดพัฒนาระบบนิเวศสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ ชูความสำเร็จโครงการบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ครั้งแรกในไทย

EXIM BANK ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ปักหมุดพัฒนาระบบนิเวศสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ ชูความสำเร็จโครงการบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ครั้งแรกในไทย

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแสดงความยินดีในความสำเร็จของโครงการบัตรเงินฝากสีเขียว (Green Certificate of Deposit) ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มีแผนเสนอขายภายในปี 2567 เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท โดยตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงประเทศชาติและโลกโดยรวม นับเป็นครั้งแรกของการพัฒนาผลิตภัณฑ์บัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลโดย DNV (Thailand) Co., Ltd. เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยทั้งในและต่างประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต่างออกมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นถึงราว 18,000 มาตรการ เฉลี่ยปีละ 16% ในช่วงปี 2556-2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของไทย อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 51% ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2566 ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่มากนัก ในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม เทียบกับสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในประเทศอื่น เช่น เยอรมนี 15.4% ญี่ปุ่น 15% จีน 10.4% และเกาหลีใต้ 10.2% จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัวและปฏิบัติตาม เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดการค้าโลก ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินต้องเร่งขยายบทบาทช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับปรับตัวดังกล่าว ซึ่งทั่วโลกยังต้องการการสนับสนุนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) อีกมาก จากข้อมูลพบว่า Climate Finance ของโลกเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าตัวเลขประเมินความต้องการทางการเงินเพื่อป้องกัน Climate Change เฉลี่ย 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือต่ำกว่าอยู่ราว 6 เท่าตัว โดยความต้องการทางการเงินดังกล่าวเป็นการประเมินการลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า การลงทุนของโลกเพื่อป้องกัน Climate Change ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมาย

ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า โครงการบัตรเงินฝากสีเขียวของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียวเพื่อร่วมกันเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายของประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 โดยนับจากนี้ เราจะเริ่มเห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นของการสร้าง Green Export Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาเงินทุน วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และส่งมอบสินค้า ตลอดจนโลจิสติกส์ที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น และสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) ภายใต้บทบาท Green Development Bank เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน EXIM BANK มีแผนจะเสนอขายบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ที่รับรองโดย DNV (Thailand) Co., Ltd. เป็นครั้งแรกในประเทศไทย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาทภายในปี 2567 โดยเริ่มออกเสนอขายรุ่นแรกในเดือนเมษายนที่ผ่านมาจำนวน 1,300 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปน.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โลจิสติกส์ และที่สำคัญคือ Climate Finance ที่จะนำไปสู่การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจรายย่อยจากระดับชุมชนเชื่อมโยงกับ Supply Chain การส่งออกสู่ตลาดโลกได้ เงินที่ได้จากการออกบัตรเงินฝากสีเขียวในครั้งนี้ EXIM BANK จะนำไปใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสีเขียว รวมถึงกิจการที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ EXIM Green Start, Solar D-Carbon Financing และ Green Guarantee เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้ง Ecosystem มากที่สุด

EXIM BANK ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ปักหมุดพัฒนาระบบนิเวศสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ ชูความสำเร็จโครงการบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ครั้งแรกในไทย