ภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกต่างมองหาผลิตภัณฑ์แนวกรีน นี่จึงเป็น "โอกาส" ของ "ผลิตภัณฑ์ชุมชน" ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้านนิเวศเศรษฐกิจสีเขียว (Ecology Design/Green Design) ได้
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะผลิตภัณฑ์ชุมชน มี "จุดแข็ง" เหนือผลิตภัณฑ์ทั่วไป คือ ความเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติในสัดส่วนสูง (Organic) และมีความดั้งเดิมสูง (Authentic)
ดังนั้นหากสามารถผสานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารการตลาดที่ดี ย่อมตามมาด้วยยอดขาย และรายได้ มีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคมของฐานราก ได้ในที่สุด
นี่คือความคิดรวบยอดของ "อำพน แปลงไธสง" ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท LoCom Social Enterprise จำกัด ซึ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน และ Director of Strategy and Innovation AES-A Marketing Branding and Communication Service Provider
จากประสบการณ์การทำงานด้านการตลาด แบรนด์ดิ้ง และสื่อสารตลาด กว่า 20 ปีของเขาในบริษัทมีเดียเอเยนซีระดับท็อปของโลก อาทิ กรุ๊ปเอ็ม, เดนท์สุ, ลีโอเบอร์เน็ทท์ ทำให้เขาเก็บเกี่ยวไอเดีย แง่มุมการสร้างแบรนด์ระดับโลก มาใช้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
จึงมองเห็นทั้งจุดแข็ง และโอกาส พร้อมกับการแก้ปัญหา (Pain point) ของผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อก้าวข้ามไปสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนสีเขียว
"ในมุมมองของผม ปัญหาหลักในภาพรวมของผลิตภัณฑ์ชุมชน คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นธุรกิจ เมื่อไม่ได้มองว่าเป็นธุรกิจ จึงไม่เน้นการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ทำให้ผลิตภัณฑ์พัฒนาช้าหรือพัฒนายาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อน
ตามมาด้วยการขาดองค์ความรู้ ขาดประสบการณ์ ขาดมุมมองการตลาด ขาดเงินทุน เรียกว่ามีปัญหาในเกือบทุกมิติ" อำพน เผย
โดยเขาระบุว่า หากจะมองเฉพาะองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนสีเขียว ด้วยหลักของ Ecology Design/Green Design แล้ว อันดับแรกสุดต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า ใครคือกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ และต้องเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายมีปัญหาอะไร โดยผลิตภัณฑ์ชุมชนที่พัฒนาขึ้น ต้องเข้าไป "แก้ปัญหา" ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
พร้อมกับส่งมอบ "คุณค่า" ที่ดีให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการ สังคมและโลก
ทั้งนี้ คุณค่าที่ดี หมายถึงการส่งมอบการใส่ใจสิ่งแวดล้อมซึ่งในทุกวัฏจักรชีวิต (ต้นน้ำ -กลางน้ำ -ปลายน้ำ) ของผลิตภัณฑ์ โดยประยุกต์หลักการ 4R ซึ่งเป็นหลักของ Ecology Design ที่ใช้กันทั่วโลก ได้แก่ ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน (reduce), การนำกลับมาใช้ซ้ำ(reuse), การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และการซ่อมบำรุง(repair) ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงกลไกใน 7 ด้านหลัก คือ 1.ลดการใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (reduction of low impact material) 2. ลดปริมาณและชนิดของวัสดุที่ใช้ (reduction of material used) 3.ปรับปรุงกระบวนการผลิต (optimization of production techniques) 4. ปรับปรุงระบบการขนส่งผลิตภัณฑ์ (optimization of distribution system) 5.ปรับปรุงขั้นตอนการใช้ผลิตภัณฑ์ (optimization of impact during use) 6. ปรับปรุงอายุผลิตภัณฑ์(optimization of initial lifetime) และ 7. ปรับปรุงขั้นตอนการทิ้งและทำ ลายผลิตภัณฑ์ (optimization of end-of-life)
"เรื่อง Green Design จะยึดที่ 4R เป็นแกน ตามมาด้วย 7 กลไก ก่อนจะเพิ่มเติมด้วยสองคำคือ ดีไซน์ (การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง มีความคิดสร้างสรรค์) และรสนิยม ซึ่งจะหาสองคำนี้ได้ ก็ต้องกลับไปเข้าใจกลุ่มเป้าหมายว่าชอบดีไซน์และรสนิยมแบบไหน ผลิตภัณฑ์จะต้องไม่ใช่ Mass Product เพื่อคนทั้งมวล แต่จะต้องแตกต่าง แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ Green คือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ผลิตภัณฑ์ต้องมาจากธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อลดสารเคมี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และมีปลายทางคือความยั่งยืน (Sustainability)" กรรมการผู้จัดการ บริษัท LoCom Social Enterprise เผย
นอกจากนี้ ในมุมของการสร้างความคิดสร้างสรรค์ "อำพน" เล่าว่า เหล่าปรมาจารย์เอเยนซี ได้กำหนดเป็นเช็คลิสต์ 5 คำ (Creativity Checklist) ประกอบด้วย สด ง่าย เกี่ยว ทึ่ง ต่อได้
โดย สดหมายถึง ไอเดียใหม่ไม่ซ้ำใคร ไม่มีใครทำมาก่อน, ง่าย คือ มีขั้นตอนการใช้เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องตีความ, เกี่ยว คือ ผลิตภัณฑ์ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เป็นเฮลท์ตี้ฟู้ด ก็ต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่หาความสัมพันธ์ไม่ได้, ทึ่ง คือ ทำออกมาแล้วคนต้อง ว้าว และ ต่อได้ คือ ไอเดียที่คิดออกมาต้องเป็น บิ๊กไอเดีย ที่แตกแขนงออกไปได้เป็นทอดๆ เหมือนเป็นพล็อตหนังไตรภาค ต้องมีภาคต่อ แบบมองข้ามช็อต ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ
"การมองเรื่อง Green Design กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องมองปลายทางที่การตลาด ทำแล้วต้องขายได้ ยิ่งถ้าสามารถแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เกินความคาดหวัง เช่น ผลิตยาแก้ปวด ไม่เพียงแก้ปวด แต่ยังทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ก็ยิ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายประทับใจมากขึ้นไปอีก เกิดการซื้อมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การทำเรื่องผลิตภัณฑ์อย่างเดียว ก็ยังไม่จบ บรรจุภัณฑ์ก็ต้องรักษ์โลก ต้องมีเรื่องการสื่อสาร มีการเล่าเรื่อง (Storytelling) มีเรื่องการตลาดมาเกี่ยวข้อง ผลิตภัณฑ์จึงจะโดนใจกลุ่มเป้าหมาย" อำพน ให้ทัศนะ
ทั้งหมดนี้คือ หลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว ซึ่ง "ผลิตภัณฑ์ชุมชน" มีความได้เปรียบ จากความใกล้ชิดธรรมชาติและมีความดั้งเดิม หากนำหลักการ Green Design ไปประยุกต์ใช้ จะไม่เพียงส่งผลดีต่อกลุ่มเป้าหมาย ที่ได้บริโภคสินค้าที่ลดการใช้สารเคมี ดีต่อสุขภาพ เท่านั้น ยังช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ จากการลดใช้ทรัพยากรและพลังงาน มีการนำกลับมาใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่
เรียกว่าดีต่อสังคมและดีต่อโลกอีกมากมาย
หากอยากทำความเข้าใจให้มากขึ้น อำพนและทีม จะมาร่วมบรรยายพร้อมกิจกรรมเวิร์คช็อปในหัวข้อ "Green Design/ BCG" ในหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 14 "BCG in Collaboration" วันเสาร์ ที่ 13 กรกฎาคมนี้
ผู้สนใจพัฒนาสินค้าชุมชนแนวกรีน หรือสินค้าแนวกรีนไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit