ปตท.สผ. ประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัล การประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9

30 May 2024

บริษัท ปตท .สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 (The 3rd Young Ocean for Life Innovation Challenge) ภายใต้แนวคิด "ทะเลเพื่อชีวิต" (Ocean for Life) ในโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9 รวมมูลค่า 900,000 บาท จากการคัดเลือกผลงานของนิสิต นักศึกษาระดับ ปวส. ถึงปริญญาตรี ที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 118 ผลงาน จาก 44 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

ปตท.สผ. ประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัล การประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9

คณะกรรมการตัดสินผลงานครั้งนี้ ได้แก่ นางสุศมา ปิตากุลดิลก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปตท .สผ. เป็นประธาน และได้รับเกียรติจาก ดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.

สำหรับผลการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ในโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9 ตาม 3 หัวข้อการประกวด ดังนี้

หัวข้อ Protect: การปกป้องท้องทะเลจากภัยคุกคามต่าง ๆ

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ทุ่นดูดซับน้ำมัน (Greasy Gulp) ด้วยเทคโนโลยี Superhydrophobic membranes ทีม Greasy Gulp จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับเงินรางวัล 130,000 บาท และเงินรางวัลสำหรับนำผลงานนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอด 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน ชุดกักเก็บคราบน้ำมันในทะเลนวัตกรรมจาก น้ำยางพาราแบบประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทีม SRTC รักษ์ทะเล จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน ถังบำบัดน้ำเสียแบบกึ่งโปร่งแสงด้วยไฟเบอร์ออฟติกพร้อมการกำหนดค่าหลายภาคส่วน (ST-500) ทีมเซฟเกาะช้างด้วย ST-500 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

  • ผลงาน เรือแคนูเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ทีม Croco จากมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • ผลงาน สีทากันเพรียงจากสารสกัดทางชีวภาพ ทีม Seascape จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร

หัวข้อ Preserve: การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ระบบติดตาม และระบุตำแหน่งตามเวลาจริงของเรือประมงพื้นบ้าน ทีม MARINE-COMM จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 130,000 บาท และเงินรางวัลสำหรับนำผลงานนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอด 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน แคปซูลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อฟื้นฟูปะการังฟอกขาว ทีม The guardian of sea จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน ระบบปลูกป่าชายเลนทางอากาศ ทีม Airborne Engineers จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

  • ผลงาน "โคโค่แลมป์" นวัตกรรมครอบหลอดไฟเบนแสงสำหรับเต่าทะเลจากเส้นใยมะพร้าว ทีม Turtle Rangers จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • ผลงาน ลูกบอลชีวภาพกำจัดปัญหาแพลงก์ตอนบลูม ทีม Plank-A-Ton จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร

หัวข้อ Provide: การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ระบบเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำปนเปื้อนเพื่อประมงที่ยั่งยืน ทีม T-Nity จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเงินรางวัล 130,000 บาท และเงินรางวัลสำหรับนำผลงานนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอด 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน ช้อนส้อมพลาสติกชีวภาพจากสาหร่าย ทีมแก๊งลูกหมู จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน ผลิตปุ๋ยเสริมแคลเซียมจากเปลือกหอยรูปแบบ BCG Model สู่การใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชน ทีมเมืองคนดี จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

  • ผลงาน พลาสติกชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำตาล ทีม CEMCHI จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
  • ผลงาน คุณค่ายั่งยืนจากทะเล: แผ่นโปรตีนและแคลเซียมอบกรอบจากผลพลอยได้ของปลาทรายแดง ในการผลิตซูริมิ ทีม Bream Bite จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร

นางสุศมา กล่าวว่า ปตท.สผ. ดำเนินโครงการ PTTEP Teenergy ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ด้วยการจัดการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด "ทะเลเพื่อชีวิต" (Ocean for Life) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อท้องทะเลไทย ซึ่ง ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าการจัดประกวดในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และส่งเสริมเยาวชนไทยในการเป็นนักคิดสร้างสรรค์และนักอนุรักษ์ที่มีศักยภาพ

ภายในงาน ยังจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ "Ocean for Life : Alive Together" โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมก่อตั้ง Environmental Education Centre Thailand (EEC Thailand) มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการอนุรักษ์ท้องทะเล นอกจากนี้ ได้จัดแสดงนิทรรศการ "Ocean for Life" การแสดงงานศิลปะจากขยะทะเล โดย เอ๋ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ Social Activist Artist ผู้สร้างงานศิลปะเพื่อสังคม การออกร้านจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปจากชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทะเล ซึ่ง ปตท.สผ. ให้การสนับสนุน และการแสดงดนตรีจากกลุ่มเยาวชนหัวใจสีเขียว

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบ Carbon Neutral Event หรืองานปลอดคาร์บอน ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากงานเท่ากับศูนย์ ตามแนวทางการดำเนินงาน EP Net Zero 2050 โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593