The Active ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน Public Forum จับมือภาคีเครือข่าย ชวนคิดเรื่องการยอมรับมิติความหลากหลายในประเทศไทย เสนอแนวทางเสริมสร้างสมานฉันท์ พร้อมนับถอยหลังสู่เทศกาล Bangkok Pride Festival 2024 เตรียมพร้อมถ่ายทอดสดทั่วโลก 1 มิ.ย. นี้
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 67 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธาณะ หรือ The Active ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรจากภาครัฐ และเอกชน จัดวงเสวนา Public Forum ในหัวข้อ "Pride Month" : ประตูบานแรกสังคมไทย เข้าใจความหลากหลาย เพื่อพูดคุยถึงสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในมิติของความหลากหลายทางเพศ หลังจากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่อนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้
ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานไพรด์ เป็นการต่อสู้ของคน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกดทับทางสังคมแล้วลุกขึ้นมาแสดงตัวตน ใช้เสียงของตนเองให้สังคมมองเห็นพวกเขา ซึ่งงานวิจัยของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สะท้อนว่า แม้ภาพรวมของสังคมที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ มีแนวโน้มไปในทางบวกมากขึ้น แต่การเปิดรับความหลากหลายทางเพศ ยังเต็มไปด้วยอคติ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นชายหญิงตามเพศกำเนิด ดังนั้น นโยบายที่เกี่ยวข้องในเรื่องความหลากหลายทางเพศ จะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่เยาวชนในโรงเรียน จะสร้างสถานศึกษาที่มีความปลอดภัย และเข้าใจความเท่าเทียมทางเพศ จะมีวิธีการสื่อสาร ประเด็นนี้อย่างไร
ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ยังมีคนข้ามเพศจำนวนมากที่ถูกกีดกันจากการศึกษา จากการทำงาน ไม่สามารถที่จะเอาตัวรอดในทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นกิจกรรม และการมีวงพูดคุยต่าง ๆ เป็นโอกาสที่ดีของการมองเห็นความหวังการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อยู่อย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน
ผู้ร่วมวงเสวนาเห็นพ้องกันว่าสังคมโอบรับความหลากหลายได้มากขึ้น เห็นได้จากการปรากฏตัวของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น รวมถึงทัศนคติที่มีต่อกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศของผู้คนมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น หากมองในเชิงนโยบาย ก็ยังพบว่าสังคมยังมีข้อจำกัดในการให้สิทธิ์แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ดังเช่นการเสนอร่างกฎหมายการบัญญัติคำว่า "บุพการีลำดับแรก" และการรับรองบุตรบุญธรรมร่วมกันนั้นถูกปัดตกไป
ขณะที่ รตี แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ผู้คนควรเพิ่มทักษะการทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงทักษะการรู้เท่าทันอคติของตัวเอง เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายในสังคม จริง ๆ แล้วไม่ควรเป็นแค่ Pride Month แต่ควรเป็น Pride Forever ที่สามารถเฉลิมฉลองเรื่องความหลากหลายได้ทุกวัน พร้อมทั้งเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการ และพื้นที่การแสดงออกใน Pride Month ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของการสื่อสารบนหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนในสังคมควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และจะช่วยสร้างความเข้าใจและสมานฉันท์ระหว่างคนในสังคมกับกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ไทยพีบีเอสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับสังคมแห่งความเท่าเทียม เปิดพื้นที่ต้อนรับความหลากหลาย สื่อสารสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนในสังคม สนับสนุนการถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ บรรยากาศงานขบวนพาเหรดจากบางกอกไพรด์ "Celebration Of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม" และกิจกรรม "DRAG BANGKOK Festival 2024" ซึ่งสามารถชมสดพร้อมกันทั่วโลกจากทุกช่องทางออนไลน์ของ Thai PBS ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, TikTok Thai PBS และชมสดแบบ Multi-View พร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษามือทางเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/PrideMonth ในวันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. 67 ตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ไทยพีบีเอส ยังร่วมกับบางกอกไพรด์ จัดวงเสวนา Policy Forum: นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีรุ้ง เปิดพื้นที่ให้กับตัวแทนผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นถึงทิศทางในอนาคต และข้อเสนอเชิงนโยบายในการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งด้านธุรกิจบันเทิง ภาพยนตร์/ซีรีส์ และการแพทย์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00-12.00 น. ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit