ม.มหิดลใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศ คิดค้น 'โครงสร้างจำลอง' ศึกษา 'โปรตีนพยาธิ'รักษาโรคหอบหืด

29 May 2024

เมื่อนึกถึง "เชื้อโรค" ไม่มีผู้ใดอยากเข้าใกล้พยาธิ หนอน ไส้เดือน ฯลฯ ที่มักพบตามพื้นดิน หรือแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ ที่มีปัจจัยส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์เหล่านี้

ม.มหิดลใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศ คิดค้น 'โครงสร้างจำลอง' ศึกษา 'โปรตีนพยาธิ'รักษาโรคหอบหืด

พยาธิตัวกลม "ทริคิเนลล่า สไปราลิส" เป็นสาเหตุของการเกิดโรค "ทริคิโนซิส" ซึ่งติดต่อจากสัตว์จำพวกกัดแทะ หรือสุกรสู่คน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในปัจจุบันสามารถนำโปรตีนของพยาธิดังกล่าวมาสกัด "สารต้านการอักเสบ" ทำเป็นยารักษาโรคต่างๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ อดิศักดิ์วัฒนา อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ "Plos Neglected Medical Diseases" "Cell Immunology" "Frontiers in Cellular and Infection Microbiology"

จากผลงานนวัตกรรมที่ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ในการสร้าง "โครงสร้าง 3 มิติจำลอง" เพื่อศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากฐานข้อมูลชีวภาพหลัก (Bioinformatic Database) กับข้อมูลที่ค้นพบจากการสกัดสารโปรตีนจากพยาธิตัวกลม "ทริคิเนลล่า สไปราลิส" ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิด "โรคทริคิโนซิส" ว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย โดยเห็นผลจากการทดลอง ในหนูทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด (Asthma)

โดยเป็นผลงานนวัตกรรมภายใต้ทุน Department for the Economy (DfE) - Global Challenge Research Fund (GCRF) Awards ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งแม้ไม่ได้อยู่ในเขตร้อน แต่มีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อนเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ยุคสมัยของการขยายอาณานิคมที่มีการเดินทางแลกเปลี่ยนทรัพยากรและวัฒนธรรมไปทั่วโลก

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ อดิศักดิ์วัฒนา ได้ให้มุมมองว่า โรคปรสิตหนอนพยาธิมักเกิดกับประชากรในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุว่า ในภูมิภาคดังกล่าวมักมีอุบัติการณ์การเกิดโรคหอบหืด โรคแพ้ภูมิตนเอง และโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบน้อยกว่าประเทศทางตะวันตก ซึ่งไม่พบการติดโรคปรสิตหนอนพยาธิ

จึงกลายเป็นข้อสันนิษฐานต่อโรคปรสิตหนอนพยาธิ รวมไปถึงพยาธิตัวกลม "ทริคิเนลล่า สไปราลิส" ว่าน่าจะมีกลไก หรือสารชีวโมเลกุลที่สำคัญในการควบคุม เหนี่ยวนำ หรือยับยั้งการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน สู่แนวทางการคิดค้นยารักษาอาการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกาย

ด้วยเทคนิค "โปรตีนลูกผสม" (Recombinant Protein Technology) โดยการใส่สารพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนต่างๆ ผ่านแบคทีเรีย หรือเซลล์ชนิดอื่นๆ นอกจากเห็นผลยับยั้งการอักเสบในหนูทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด (Asthma) แล้ว ยังสามารถต่อยอดเพื่อการรักษาโรคที่พบการอักเสบภายในร่างกายต่างๆ อาทิ โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามอย่างหนักต่อมวลมนุษยชาติในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การศึกษาดังกล่าวยังใช้โปรตีนลูกผสมที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ก้าวต่อไปผู้วิจัยเตรียมศึกษาเพื่อย่อขนาด "โมเลกุลในขนาดที่เล็กลง" เพื่อให้ได้ผลใน "การรักษาได้อย่างตรงจุด" และสามารถป้องกัน "การดื้อยา" ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้ เนื่องจากตามธรรมชาติร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจไปทำลายยาโปรตีนที่ใช้ฉีดรักษาต่อไปได้

โดยแนวทางการวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ อดิศักดิ์วัฒนา เป็นการทุ่มเทศึกษาอย่างลึกซึ้งด้วยตัวเองนับตั้งแต่ก้าวแรก จนสามารถทราบได้ถึงหน้าที่ของโปรตีนในพยาธิที่ศึกษา ตลอดจนได้นำเทคโนโลยีชีวสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยเพื่อรักษาโรค ซึ่งนับเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนวัตกรรุ่นใหม่ โดยได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสร่วมทำวิจัยด้วย ซึ่งนับเป็นการ "สร้างคน - สร้างเทคโนโลยี - สร้างชาติ" ที่น่าภาคภูมิ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th