"แม่บุญล้ำ" ล้ำหน้า นำนวัตกรรมเปลี่ยนกากปลาร้าเหลือทิ้ง สู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

27 May 2024

เมื่อไม่กี่ปีมานี้อุตสาหกรรมน้ำปลาร้าไทยได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก้าวข้ามจากวัตถุดิบในครัวเรือน สู่การเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก มีผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ไม่ต่ำกว่า 200 แบรนด์ ส่งผลให้ตลาดน้ำปลาร้ามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกกว่า 200 ล้านบาท/ปี ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในสมรภูมิความนัวนี้ สิ่งที่หลายคนมองข้ามไป คือ ของเสียจากกระบวนการผลิต ซึ่งอาจกลายเป็นทั้งวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อม หรือโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และการจัดการของผู้ประกอบการ ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณกากปลาร้าซึ่งเป็นเศษเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำปลาร้าอย่างน้อย 680 ตัน/ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยการฝังกลบ หากปล่อยไว้เช่นนี้ กากปลาร้าที่มีความเค็มและกลิ่นรุนแรงอาจรั่วไหลลงสู่ดินและแหล่งน้ำ ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการกากปลาร้าอย่างถูกวิธีจึงไม่เพียงช่วยลดมลพิษ แต่ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการอีกด้วย

"แม่บุญล้ำ" ล้ำหน้า นำนวัตกรรมเปลี่ยนกากปลาร้าเหลือทิ้ง สู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

บริษัท เพชรดำฟู๊ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ธุรกิจน้ำปลาร้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือที่หลายคนอาจคุ้นเคยภายใต้แบรนด์ "แม่บุญล้ำ" ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร. สมสมร แก้วบริสุทธิ์ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกากปลาร้าเหลือทิ้งของโรงงาน โดยสร้างเป็นไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการเพิ่มแคลเซียมจากผงกระดูกปลาที่ได้จากการนำกากปลาร้ามาปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคโนโลยี พร้อมทั้งได้มีการต่อยอดไปสู่การจัดทำข้อกำหนดด้านมาตรฐาน เพื่อให้น้ำปลาร้ามีแคลเซียมเพิ่มขึ้น มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำปลาร้าทั่วไปในท้องตลาด ทำให้ผู้ประกอบการสามารถกล่าวอ้างคุณสมบัติน้ำปลาร้าเสริมผงกระดูกปลาเป็นผลิตภัณฑ์แคลเซียมสูงได้ รวมถึงมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้ผงกระดูกปลาตกตะกอนที่ก้นขวด ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเขย่าขวดทุกครั้งก่อนใช้ ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลกได้

โดยบริษัทฯ และทีมวิจัย ได้ยื่นขอทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจากแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้ชื่อชุดโครงการวิจัย "การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมน้ำปลาร้า ด้วยเทคโนโลยีสร้างมูลค่ากากปลาร้า (ระยะที่ 2)" และทางบริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนด้วยส่วนหนึ่ง

คุณพิไรรัตน์ บริหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพชรดำฟู้ดส์ จำกัด ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการมาร่วมทุนในครั้งนี้ว่า "บริษัทมีกากปลาร้าที่เป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก และได้มีการกำจัดโดยการนำมาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ในบริเวณโรงงานและฝังกลบ แต่เมื่อเรามีการผลิตที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เราเริ่มเห็นว่าของเหลือ (Waste) มีเยอะขึ้นมาก ดังนั้นเราจึงได้มีการปรึกษากับ ผศ.ดร.สมสมร ว่ากากก้างของเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง อาจารย์ได้แนะนำให้ส่งไปวิเคราะห์กับทางสถาบันอาหารเพื่อตรวจหาโปรตีนและแคลเซียม ซึ่งหลังจากได้ผลมา อาจารย์ได้แนะนำให้เราได้รู้จักกับทุน บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้ทุนทำ R&D แก่สถาบันวิจัยและผู้ประกอบการ โดยเราได้ยื่นขอทุนในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมุ่งสนับสนุนโครงการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสีย โดยเพชรดำมีทีม R&D ร่วมกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการวิจัยและพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีนำมาต่อยอดในธุรกิจ โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาช่วยคิดค้นเทคโนโลยีในการปรับปรุงกากก้างปลาร้าเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตในโรงงาน ให้สามารถนำมาผลิตเป็นผงแคลเซียมและผสมในน้ำปลาร้าได้อย่างเหมาะสมและไม่มีการตกตะกอน ซึ่งเป็นโครงการย่อยที่ 1 ภายใต้ชุดโครงการนี้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกากก้างเหลือทิ้ง และสามารถสร้าง Product line ใหม่เป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคในยุคสังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนในการพัฒนาน้ำปลาร้าสูตรโซเดียมต่ำเพื่อตอบรับเทรนด์การรักษาสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน"

ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. กล่าวเสริมว่า "โครงการนี้สามารถตอบโจทย์แผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ในเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือในอุตสาหกรรม เพื่อลดขยะและลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี อุตสาหกรรมน้ำปลาร้าของไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก และในขณะเดียวกัน ของเหลือจากอุตสาหกรรมน้ำปลาร้าก็มีมากขึ้นเช่นกัน หากไม่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะนำมาซึ่งมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้ และโครงการนี้เราได้ผู้ประกอบการที่มี Potential และมีความพร้อมที่จะนำผลงานวิจัยไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์มาร่วมลงทุน จึงถือเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญของวงการน้ำปลาร้า เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการทำ R&D และซึ่งนอกจากจะเป็นการลดของเหลือจากโรงงาน และการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมน้ำปลาร้าของไทยอีกด้วย โดยโครงการนี้เราได้มุ่งเป้าให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 41,200,000 บาท/ปี และการใช้กากปลาร้า 222 ตัน/ปี"

บพข. มุ่งเน้นให้มีการใช้ประโยชน์จากกากปลาร้าซึ่งเป็นเศษเหลือในกระบวนการผลิตในหลากหลายรูปแบบ เพื่อลดการฝังกลบให้ได้มากที่สุด นอกจากการแปรรูปเป็นผงกระดูกปลาเพื่อเสริมแคลเซียมในน้ำปลาร้าแล้ว ยังมีการนำกากปลาร้ามาผลิตเป็นซอสน้ำปลาร้าอเนกประสงค์จากกากข้าวคั่วที่เป็นเศษเหลือในกระบวนการผลิต ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการทดสอบรสชาติและการยอมรับจากผู้บริโภค มีการศึกษาวิธียืดอายุน้ำปลาร้าอเนกประสงค์ให้สามารเก็บได้ยาวนานขึ้นเพื่อรองรับการส่งออกต่างประเทศ รวมถึงการฆ่าเชื้อ และการปรับสภาวะความเป็นกรด-ด่างของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งเป็นโครงการย่อยที่ 2 นำโดย ผศ.ดร. อัมพร แซ่เอียว ภายใต้โครงการวิจัยนี้ และยังมีโครงการย่อยที่ 3 นำโดย รศ.ดร. สุภาภรณ์ พวงชมพู ในการนำกากปลาร้ามาผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยได้เริ่มทดลองศึกษากับพืชไร่จำพวก ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชระยะสั้น และที่มีการปลูกมากที่สุดในจังหวัดกาฬสิน โดยทีมวิจัยได้มีการพัฒนาสูตรน้ำหมักชีวภาพจากกากปลาร้า ทำให้ได้น้ำหมักชีวภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้น มีค่าธาตุอาหารหลักเทียบเคียงหรือสูงกว่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์เหลว และให้ผลผลิตที่ดีกว่าเมื่อกับการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนของเหลือทิ้งในโรงงานซึ่งมีต้นทุนในการกำจัด กลายเป็นวัตถุดิบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท โดยผ่านการวิจัยและพัฒนาภายใต้มาตรฐานสากล ด้วยทุนวิจัยจาก บพข. และการทำงานรวมกันของนักวิจัยและเอกชนผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนแล้ว ยังสามารถขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้ บริษัท เอเซียโมดิไฟด์สตาร์ช จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมทดลองปลูกมันสำปะหลังโดยใช้น้ำหมักชีวภาพจากกากปลาร้าที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพด ทั้งในด้านต้นทุนปุ๋ยที่ลดลง ผลผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงคุณภาพของดินและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น จากการลดการใช้ปุ๋ยเคมี

ปัจจุบัน บริษัท เพชรดำฟู๊ดส์ จำกัด ถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมน้ำปลาร้า มีส่วนแบ่งทางตลาด (market share) กว่า 50% โดยมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในประเทศไทย คิดเป็น 90% ส่งออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ 10% และยังคงมีแผนที่จะขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็น การนำกากปลาร้าเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นผงกระดูกปลาเสริมแคลเซียม นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการกำจัดเศษเหลือทิ้งของโรงงานแล้ว ยังสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับบริษัท ทั้งในแง่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด และคาร์บอนเครดิตด้านการลดของเสียจากกระบวนการผลิต เพื่อเตรียมพร้อมขายสินค้าในยุโรปและอเมริกาต่อไปในอนาคต แม้ในขณะนี้ยังไม่ได้มีข้อกฎหมายมาบังคับโดยตรง แต่ทุกโรงงานควรต้องมีการเตรียมพร้อมไว้ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันท่วงทีเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย และไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ

HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit