โค้งสุดท้ายกับการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ในโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9 ซึ่ง ปตท .สผ. จัดขึ้นเพื่อจุดประกายไอเดียให้กับน้อง ๆ ในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้เกิดขึ้นจริง โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือ เวิร์กชอปให้กับเยาวชนทั้ง 15 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง พร้อมรับฟังเทคนิคและคำแนะนำจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. จ.ระยอง เพื่อช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะช่วยในการอนุรักษ์ท้องทะเล
เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คือกำลังสำคัญมีบทบาทในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน บริษัท ปตท .สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวิร์กชอปขึ้นภายใต้โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9 ภายใต้แนวคิด "ทะเลเพื่อชีวิต" (Ocean for Life) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยอนุรักษ์ทะเลไทย โดยน้อง ๆ ทั้ง 15 ทีม จาก 118 ทีมทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่ รอบชิงชนะเลิศ ได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน
ตลอดการเข้าร่วมเวิร์กชอปทั้ง 2 วัน น้อง ๆ ได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ท้องทะเลไทยในปัจจุบันและนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูทะเลอย่างยั่งยืน จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายภาคภูมิ เกรียงโกมล Robotic Team Lead บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และยังได้เรียนรู้เทคนิคการพูดให้น่าฟัง พรีเซนต์ให้โดนใจ เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพและความมั่นใจในวันนำเสนอผลงาน พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกับรุ่นพี่ในโครงการ PTTEP Teenergy ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงเพื่อร่วมจุดประกายความคิด ในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมให้กับน้อง ๆ
กิจกรรมพิเศษสำหรับการเวิร์กชอปในครั้งนี้ คือน้อง ๆ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTTEP Technology and Innovation Center หรือ PTIC) จ.ระยอง เพื่อเรียนรู้แนวคิดการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การนำไปใช้งานจริง ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์ให้กับน้อง ๆ เพื่อสามารถนำกลับไปพัฒนาผลงานของตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
น้องธิชา นางสาวธิชากร เมืองสอง นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาเทคโนโลยีทางทะเล คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ตัวแทนจากทีม Croco เล่าประสบการณ์ถึงการเข้าร่วมเวิร์กชอปกับ ปตท.สผ. ครั้งนี้ว่าเป็นกิจกรรมที่คุ้มค่าและช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมของทีมเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ได้เห็นโลกของงานนวัตกรรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้อย่างลึกซึ้ง เพิ่มเติมจากในห้องเรียน
"ตลอดระยะเวลา 2 วันนี้ พวกเรารู้สึกได้รับพลังบวกและเกิดไอเดียต่าง ๆ มากมายค่ะ เพราะได้รับฟังแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ว่าเขาต้องทำอย่างไรบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้และยังได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลงานจากคณะกรรมการโดยตรง ซึ่งเป็นคำแนะนำสำคัญที่ทำให้เราได้รู้ถึงจุดที่ต้องแก้ไขเพื่อนำไปปรับปรุงผลงานให้ละเอียดและรอบคอบมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการมาเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ได้ประโยชน์มาก ๆ ค่ะ" นางสาวธิชากร กล่าว
ด้านน้องอาย นางสาวมนพัทธ์ สีเงิน นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากทีม Turtle Rangers เล่าถึงความประทับใจในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ได้มีโอกาสร่วมเวิร์กชอปในเรื่องต่าง ๆ เพื่อพัฒนาผลงาน รวมถึงเทคนิคการพูด การใช้น้ำเสียง การพรีเซนต์ ซึ่งการได้มาเห็นผลงานนวัตกรรมของจริง เรียนรู้จากเจ้าของนวัตกรรมโดยตรง ทำให้สามารถนำไปปรับใช้ในการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ และยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
"เป็นการเรียนรู้ที่สนุกมากค่ะ พวกเราทุกคนในทีมได้เรียนรู้มากมาย เพื่อที่จะนำไปพัฒนาผลงานให้มีความโดดเด่นและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากที่สุด โดยเฉพาะการได้มาสัมผัสประสบการณ์จริง ชมนวัตกรรมที่ทันสมัย ทำให้รู้ว่าโลกนวัตกรรมนั้นไปไกลมากกว่าที่เราคิด มีแรงกระตุ้นที่อยากจะพัฒนาผลงานของเราไปให้ได้ไกลแบบพี่ ๆ ค่ะ" นางสาวมนพัทธ์ กล่าว
ปิดท้ายกับน้องอิคคิว นายคริษฐ์ โพธิ์ถาวร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตัวแทนจากทีม CEMCHI บรรยายความรู้สึกหลังได้ร่วมกิจกรรมว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เห็นศักยภาพของเพื่อนแต่ละทีม ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากวิทยากร และรู้จักเพื่อนใหม่ต่างสถาบัน โดยกิจกรรมเวิร์กชอปที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือ Business Model Canvas ที่ทีมให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นความรู้ใหม่ซึ่งไม่เคยเรียนมาก่อน และทำให้เข้าใจผลงานที่ออกแบบมาได้ชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะสื่อสารออกมาให้ได้มากยิ่งขึ้น
"ผมขอเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ เชิญชวนทุกคนมาร่วมส่งกำลังใจให้กับพวกเราทั้ง 15 ทีม เพื่อร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่ต่อไป และอยากส่งต่อความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับจากโครงการ PTTEP Teenergy ของ ปตท.สผ. ให้กับทุกคนที่กำลังคิด หรือออกแบบผลงานนวัตกรรมของตัวเองอยู่ ให้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจ เพราะโอกาสดี ๆ แบบนี้กำลังรอทุกคนอยู่เหมือนพวกเราครับ" นายคริษฐ์ กล่าว
ติดตามข่าวสารของการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9 ได้ที่ www.facebook.com/pttepcsr
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit