8 มิถุนายน วันทะเลโลก (World Ocean Day) … โลกเดือด ทะเลร้อน นักวิชาการ TEI ชี้เร่งรีบแก้ไขปัญหาเดิม เตรียมพร้อมรองรับกับปัญหาใหม่

07 Jun 2024

วันทะเลโลก หรือวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2535 โดยความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก ในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม (The Earth Summit) ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล โดยมีประเทศสมาชิก 178 ประเทศ รวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งต่อไปยังประชาชนเกิดจิตสำนึกและความตระหนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และในปีนี้ ก็เป็นเวลากว่า 32 ปีแล้ว โดยในแต่ละปีก็จะมีธีมในการรณรงค์แตกต่างกัน หลายปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญการหยุดยั้งปัญหาขยะทะเล และในปี 2567 ให้ความสำคัญของการลงมือทำ (Action) "Catalyzing Action for our Ocean & Climate : เร่งลงมือเพื่อทะเลและภูมิอากาศ"

8 มิถุนายน วันทะเลโลก (World Ocean Day) … โลกเดือด ทะเลร้อน นักวิชาการ TEI ชี้เร่งรีบแก้ไขปัญหาเดิม เตรียมพร้อมรองรับกับปัญหาใหม่

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ได้เรียบเรียงข้อมูลพร้อมหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้มีการประเมินว่าถ้าอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าระดับปกติ 1.5 องศาเซนติเกรด ปะการังในโลกจะถูกทำลายกว่าร้อยละ 70-90 และหากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น 2.0 องศาเซนติเกรด ปะการังจะถูกทำลายสูงถึงร้อยละ 99 เลยทีเดียว ระบบนิเวศแนวปะการังนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญยังเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอีกด้วย 

"ในช่วงสองปีที่ผ่านมาอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และส่งผลต่อแนวปะการังทั่วโลกกว่า 54 ประเทศแล้ว ในส่วนของประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาว กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สำรวจแหล่งปะการังหลายพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เปิดเพยว่าเกิด ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง จากระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น จนต้องประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 12 แห่ง ทั้งฝังทะเลอันดามันและอ่าวไทย

โดยในพื้นที่ที่เริ่มเกิดปะการังฟอกขาวแล้วกว่าร้อยละ 50 - 70 ได้แก่ หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน หมู่เกาะชุมพร และอยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติมอีกในหลายพื้นที่ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2567 บริเวณเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานีพบปะการังฟอกขาว ร้อยละ 40 สีจางร้อยละ 30 และยังอยู่ในสภาพปกติเพียงร้อยละ 30 โดยปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด ปะการังช่องเล็ก และกลุ่มปะการังเขากวางแผ่นแบนแบบโต๊ะ"

ดร.วิจารย์ ยังบอกเพิ่มเติมถึงปัญหาต่างๆของทะเลว่า ขยะทะเล เป็นปัญหาสำคัญของประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะขยะพลาสติก การผลิตพลาสติกทั่วโลกปีละกว่า 400 ล้านตัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆตามความต้องการและถ้าหากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องก็จะมีปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและทะเลได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีปัญหาขยะในทะเลระดับท๊อปเท็นของโลก พร้อมกับอีก 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี ประมาณร้อยละ 13-15 จากขยะชุมชนทั้งหมด ที่มีปริมาณปีละ 28 - 29 ล้านตันต่อปี โดยได้มีการประเมินว่ามีระบบจัดการได้อย่างถูกต้อง โดยการนำไปรีไซเคิลได้ประมาณ ร้อยละ 25 ที่เหลือร้อยละ 75 ถูกนำไปฝังกลบ หรือเผา หรือกองทิ้ง จึงทำให้ขยะพลาสติกส่วนหนึ่งเล็ดลอดออกสู่คลอง แม่น้ำ และปลายทางที่ทะเล ประเมินว่าขยะพลาสติกที่เราใช้ประโยชน์ 50-60 ปีที่แล้ว เมื่อลงสู่น้ำหรือทะเล จะดูดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติก ใช้เวลาเป็นร้อยปี ซึ่งเมื่ออยู่ในน้ำก็จะคล้ายๆกับแพลงก์ตอน สัตว์น้ำจึงกินเข้าไป และสะสมในส่วนต่าง ๆ และมนุษย์ก็ถูกถ่ายทอดไมโครพลาสติกจากการรับประทานสัตว์น้ำต่างๆ นอกจากนี้ก็มีการปนเปื้อนในน้ำ ในเกลือ และระบบนิเวศทางทะเลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาน้ำเสีย เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อทะเล โดยน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดต่างๆที่ไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสีย ได้ไหลผ่านแม่น้ำคูคลองต่างๆปลายทางที่ทะเล ได้ส่งผลกระทบต่อทะเลแล้ว ดังปรากกฎ การน้ำทะเลเปลี่ยนสี จากสารอาหารที่มากเกินไปจากน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการท่องเที่ยว กรณีที่เกิดขึ้นที่บางแสน และศรีราชา ช่วงหลังมานี่เกิดขึ้นถี่และกินบริเวณกว้าง ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อน สำหรับน้ำเสียจากแหล่งชุมชน ที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียได้เพียงร้อยละ 26 ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่านั้น

การท่องเที่ยวทางทะเลก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก การท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ก็จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี คำนึงศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการมีการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบบำบัดน้ำเสียและการจัดการขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยว ขณะนี้ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภารกิจในเรื่องนี้ในหลายๆพื้นที่ รัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้าไปช่วยดำเนินการทั้งงการลงทุน การบริหารจัดการ การดูแลระบบ ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ยกตัวอย่าง เกาะลันตา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาขยะ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยทุน บพข. ( หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ในการพัฒนารูปแบบและกลไกการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะและขยะพลาสติกครบวงจร ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการ ลดและแยกขยะ การนำขยะอาหารไปเลี้ยงสัตว์ การนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชน ในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 จังหวัดกระบี่และชาวเกาะลันตา ได้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันทะเลโลกและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ "การสัมมนาชาวเกาะเพื่อการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน" ที่มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ร่วมให้ข้อมูลในส่วนการจัดการสิ่งแวดล้อมบนเกาะ

"โลกกำลังจะเดือด ทะเลกำลังจะร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะตามมา เป็นปัญหาที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบและต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเร่งรีบแก้ไขปัญหาเดิมและเตรียมพร้อมรองรับกับปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"  ดร. วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

8 มิถุนายน วันทะเลโลก (World Ocean Day) … โลกเดือด ทะเลร้อน นักวิชาการ TEI ชี้เร่งรีบแก้ไขปัญหาเดิม เตรียมพร้อมรองรับกับปัญหาใหม่