เศรษฐกิจไทยหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หลังจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโต 1.5% โดยปัจจัยการเติบโตหลักมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว แต่ภาคการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากข้อมูลล่าสุด ซิตี้แบงก์คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 และ 2568 อยู่ที่ 2.5% และ 3.2% ตามลำดับ ทั้งนี้คาดว่าการประชุมกนง. ในเดือนมิถุนายนจะยังไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของธปท. ในการลดปัญหาหนี้ครัวเรือน และติดตามแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ซิตี้แบงก์ยังคงคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในเดือนสิงหาคม ลงมาอยู่ที่ 2.25% เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงขาลงท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกที่อ่อนแอ และความไม่แน่นอนในการใช้จ่ายภาครัฐ
นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า จีดีพีประเทศไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เติบโต 1.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงกว่าการคาดการณ์ของซิตี้แบงก์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หากปรับปัจจัยฤดูกาลออก (Seasonally Adjusted) จีดีพีไตรมาสที่ผ่านมาเติบโตรายไตรมาสที่ 1.1% ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 0.4% แม้นี่จะเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) แต่การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ โดยเติบโตน้อยกว่า 2.0% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 และในแต่ละภาคส่วนมีการเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอกัน
ในฝั่งอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนเติบโตสูงกว่าคาดการณ์ ที่ 6.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนมาจากการท่องเที่ยว นโยบาย e-Refund กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 45 วันแรกของปี และการอุดหนุนราคาพลังงาน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเติบโตเพิ่ม ที่ 4.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องจักร สอดคล้องกับการยื่นขออนุมัติการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 ขณะที่ปัจจัยซึ่งฉุดรั้งการเติบโตของจีดีพี ประกอบด้วยการใช้จ่ายรวมของภาครัฐจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างมูลค่าการส่งออกสุทธิที่ลดลงจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น แม้การส่งออกบริการจะมีความแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบดังกล่าว
ในฝั่งอุปทาน ภาคการบริการเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างการเติบโตในไตรมาสที่ 1 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการก่อสร้างยังคงหดตัว จากความล่าช้าของการลงทุนภาครัฐและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยฟื้นตัวต่ำ เช่นเดียวกับภาคการเกษตรที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ แต่ปัจจัยสำคัญที่ฉุดการเติบโตมาจากภาคการผลิต ที่หดตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาส สอดคล้องกับภาคการส่งออกสินค้าที่เซื่องซึมจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของบางกลุ่มสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
นางสาวนลิน กล่าวต่อว่า "ซิตี้แบงก์ยังคงคาดการณ์จีดีพีตลอดปี 2567 ที่ 2.5% และจีดีพีปี 2568 ที่ 3.2% ด้านมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต 2.0% และมูลค่าการนำเข้าเติบโต 4.1% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะมีจำนวน 36.5 ล้านคน ในปี 2567 และ 41 ล้านคนในปี 2568 โดยมีปัจจัยความเสี่ยงขาลงสำหรับไตรมาสหน้าจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและความรวดเร็วในการเบิกจ่ายทางการคลัง ขณะเดียวกัน เราเล็งเห็นถึงความเสี่ยงขาขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีแนวโน้มดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงครึ่งปีหลัง"
สำหรับการประชุมกนง. วันที่ 12 มิถุนายน 2567 คาดว่าจะยังไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากจีดีพีไตรมาส 1 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธปท. ซึ่งยังคงมีความกังวลด้านเสถียรภาพในระยะยาวอย่างไรก็ดี ซิตี้แบงก์คาดว่ามีโอกาสเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ 2.25% เนื่องจากความเสี่ยงขาลงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ (ปัจจัยหลังอาจจะมีน้อยกว่า) ดังนั้น จึงคาดว่าตลอดปี 2567 จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแค่ 1 ครั้ง ทั้งนี้ หากภาคการส่งออกฟื้นตัวมากขึ้นและภาครัฐมีการเร่งการใช้จ่าย ความเป็นได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ 2.50% จะมีมากขึ้น อนึ่ง ถึงแม้ว่าเราจะมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นปัจจัยที่สำคัญน้อยกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่อย่างไรก็ดี เราสังเกตว่าธปท.มีการติดตามความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
"หากการลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นตามการคาดการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซิตี้แบงก์คาดว่าธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ไปจนถึงปลายปี 2568 โดยคำนึงจากศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะยาวที่ต่ำหรือประมาณ 1.8% ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องติดตามต่อ ได้แก่ ช่วงเวลาที่แน่นอนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอาจส่งผลให้จีดีพีปี 2567 และ 2568 เติบโตเพิ่มเล็กน้อย รวมไปถึงปัจจัยการกู้ยืมของภาครัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ" นางสาวนลิน กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยหรือ www.citibank.co.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit